xs
xsm
sm
md
lg

ลงนามสั่ง ผอ.มานะ รักษาการหัวหน้าเขตสลักพระ แก้ปัญหาไฟป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ผอ.สำนัก 3 (บ้านโป่ง) ลงนามสั่ง ผอ.มานะ รักษาการหัวหน้าเขตสลักพระ แก้ปัญหาไฟป่า ขณะที่หัวหน้าอุทยานลำคลองงู ประกาศห้ามบุคคลเข้าป่า ป้องกันลอบเผา ถูกจับเจอคุก 4-20 ปี ปรับหนักสุด 2 ล้าน
 
วันนี้ (8 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งให้นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น
 
ล่าสุด นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ที่ ทส 0913.2/1449 วันที่ 7 ก.พ.2567 เรื่อง ให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการ เนื้อหาในคำสั่งระบุว่า
 
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พิจารณาแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ดำเนินไปด้วยความเหมาะสม สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ ทส 0901.304/ว 22421 ลงวันที่ 29 กันยายน 2560  และหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด่วนที่สุด ที่ ทส 0928.2/ว 9098 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่
 
จึงให้นายมานะ เพิ่มพูล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ไปปฏิบัติงานทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อีกหน้าที่หนึ่ง และปฏิบัติราชการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ทำหน้าที่หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระอีกหน้าที่หนึ่ง
 
โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายและหนังสือสั่งการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด บรรดาคำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้ใช้คำสั่งนี้แทน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567
 
ด้าน นายคุณากร บุญเกื้อสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค.ของทุกปี ประเทศไทยมักประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่นควันที่มีค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ อีกทั้งยังส่งผลทำให้เกิดปัญหามลพิษโลกร้อน ซึ่งมีผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาวะอากาศโลกร้อน ถือเป็นปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วน ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และยานพาหนะเป็นจำนวนมาก
 
ซึ่งสาเหตุเกิดจากการเผาป่าล่าสัตว์ การเก็บหาของป่า และการกำจัดวัชพืชในที่ดินทำกินของเกษตรกรที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า เพื่อเตรียมการเพาะปลูกโดยไม่มีการควบคุม ส่งผลให้ไฟลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติกลายเป็นไฟป่า
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาหมอกควัน และไฟป่า อุทยานแห่งชาติลำคลองงู จังหวัดกาญจนบุรี จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 20 ประกาศห้าม ดังนี้
 
1.บุคคลใดซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด จึงห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง 31 พฤษภาคม 2567 ในท้องที่ตำบลชะแล ตำบลท่าขนุน ตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยกเว้นพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตบริการและเขตนันทนาการกลางแจ้ง หากกรณีมีเหตุจำเป็นให้ประสานอุทยานแห่งชาติลำคลองงู พร้อมแจ้งรายชื่อและสาเหตุความจำเป็นในการเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 47 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
 
และ 2.การเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรมใกล้เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู ต้องมีการควบคุมไม่ให้ไฟลุกลามเข้าป่า หากมีการลุกลามเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 19(1) ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ มิให้บุคคลใดกระทำการยึดถือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำการด้วยประการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม
 
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีความผิดดังกล่าว ถ้าได้กระทำในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งกึ่งหนึ่ง








กำลังโหลดความคิดเห็น