xs
xsm
sm
md
lg

ค่าฝุ่น PM2.5 จ.กาญจน์ทะลุ 78.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนจุดความร้อนพุ่ง 289 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ค่าฝุ่น PM2.5 จ.กาญจน์ทะลุ 78.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนจุดความร้อนพุ่ง 289 จุด เตือนมือเผาป่าจับได้โทษหนัก คุกต่ำสุด 4 ปี สูงสุด 20 ปี ปรับต่ำสุด 4 แสน สูงสุด 2 ล้านบาท

วันนี้ (7 ก.พ.) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศของจังหวัดกาญจนบุรี ประจำวันที่ 7 ก.พ.โดยสถานีตรวจวัด ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ว่า “ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่า 78.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ”

แนะนำให้ทุกคนควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งควรสวมใส่หน้ากากกันฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ถ้ามีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

สำหรับจุดความร้อน (Hotspot) ที่พบในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีในวันนี้มีมากถึง 289 จุด สำหรับจุดที่พบประกอบด้วย พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 135 จุด ป่าสงวน 91จุด เขต ส.ป.ก. 5 จุด พื้นที่เกษตร 9 และพื้นที่อื่นๆ 49 จุด เส้นทางการเคลื่อนที่ของฝุ่นละอองมาจากแหล่งกำเนิดทั้งภายในและภายนอกจังหวัด

ขณะเดียวกัน เพจสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้โพสต์เฟซบุ๊กเพื่อย้ำเตือนขบวนการลักลอบเผาป่าเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเผาป่าทุกกรณี โดยระบุว่า “บุคคลใดเผาป่าในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์หรือสวนรุกขชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และตามมาตรา 99 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายวันที่ผ่านมานั้นไฟป่าได้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อ.เมือง และอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี การเกิดไฟป่าแต่ละจุดล้วนมาจากฝีมือของมนุษย์

ซึ่งจะสังเกตได้ว่าจุดที่เกิดการเผาป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปีนี้แตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมาเพราะการเผาป่าในแต่ละปีจะทำการเผาบริเวณชายเขาเพื่อให้ไฟลุกลามขึ้นไปด้านบน แต่ปราฏว่ามาในปีนี้พบใช้วิธีเผาด้านบนของภูเขา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความยากลำบากมากขึ้นหลายเท่า








กำลังโหลดความคิดเห็น