xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานแห่งชาติฯ พีพีบูรณาการส่วนราชการและผู้ประกอบการ หารือแนวทางจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวอ่าวปิเละ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีได้ดำเนินการจัดประชุม บูรณาการส่วนราชการและผู้ประกอบการ หารือแนวทางในการจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวของอ่าวปิเละ
วันนี้ (5 ก.พ.) นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หน.อช.หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า ตามนโยบาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 สั่งการให้อุทยานแห่งชาติฯ จัดการดูแลสถานที่แหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ให้ควบคุมดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว บริหารจัดการเพื่อจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ให้เกิดภาพความแออัด ให้ท่องเที่ยวอย่างสะดวกและปลอดภัย

โดยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 67 เวลา 13.30 น. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ดำเนินการจัดประชุม หารือแนวทางในการจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวของเกาะพีพี โดยนายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานฯ นายสิรณัฐ สก๊อต ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายประเสริฐ วงษ์นา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง /ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี นายวุฒิศักดิ์ ทองเกิด ประธานกลุ่มผู้พิทักษ์เกาะพีพี เป็นประธานร่วม มีส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขากระบี่, สถานีตำรวจท่องเที่ยว 3 กก.2, สถานีตำรวจน้ำ 1 กก.9, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 จังหวัดกระบี่, ศูนย์ควบคุมความมั่งคงท่าเรือกระบี่, สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่, สถานีตำรวจภูธรเกาะพีพี, ชมรมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี, ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี, กลุ่มพิทักษ์พีพี, ชมรมเรือหางยาวเกาะพีพี, ผู้ประกอบการเรือหางยาว และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ณ ห้องประชุมโรงแรม พีพี อันดามัน บีช รีสอร์ท (เกาะพีพี) จังหวัดกระบี่ ในที่ประชุม อุทยานแห่งชาติฯ ได้รายงานสภาพปัญหาการท่องเที่ยวบริเวณอ่าวปิเละ และศักยภาพการท่องเที่ยวตามหลักวิชาการ โดยอ่าวปิเละ หรือปิเละ ลากูน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีลักษณะโดดเด่น สวยงาม ตั้งอยู่ที่เกาะพีพีเล มีแอ่งน้ำลักษณะคล้ายกับลากูน โดยเป็นแอ่งถูกล้อมรอบด้วยหน้าผาสูง น้ำทะเลสดใสเขียวมรกต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และอยู่ใกล้กับอ่าวมาหยาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของอุทยานฯ ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวอ่าวปิเละมีเรือนำเที่ยวและนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันมีเรือเข้าไปท่องเที่ยว เฉลี่ยประมาณ 120 ลำ ประกอบด้วย เรือหางยาว เรือสปีดโบ๊ต ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการเข้าไปให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพ และว่ายน้ำ ด้วยความหนาแน่นของเรือที่เกิดจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีภูมิทัศน์ไม่สวยงาม เกิดมลพิษ ทั้งทางด้านเสียงจากเครื่องยนต์เรือ และมลพิษทางอากาศ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้าไปได้รับโดยตรง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะหาแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องบูรณาการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่และต่างพื้นที่ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ เพื่อที่จะหาแนวทางกำหนดกฎกติกาในการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสามารถจัดการแหล่งท่องเที่ยวและใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราฯ ได้ดำเนินการของบประมาณในการติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำ และทุ่นไข่ปลา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเข้า-ออกของเรือ และอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงเพิ่มทุ่นจอดเรือให้ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวทุกแหล่ง เพื่อป้องกันมิให้มีการทิ้งสมอเรือ หรือท่องเที่ยวที่อันจะเกิดผลกระทบต่อปะการังในแหล่งท่องเที่ยว โดยที่ประชุมดังกล่าวได้ร่วมกันหารือปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และได้มีมติที่ร่วมกันที่ในการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในอ่าวปิเละลากูน ในเบื้องต้น ดังนี้

1. ลดจำนวนเรือหางยาวที่ไม่มีนักท่องเที่ยว โดยไม่ให้ เข้าไปจอดหรือดำเนินการเปลี่ยนถ่ายนักท่องเที่ยวจากเรือสปีดโบ๊ตไปยังเรือหางยาวภายในอ่าวปิเละ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงสามารถลดปัญหามลภาวะทางเสียงและอากาศในพื้นที่ได้
2. จัดโซนเล่นน้ำภายในอ่าวปิเละ ให้เล่นเฉพาะจุดที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น
3. จัดทำเสาแสดงระดับน้ำขึ้นลงด้านหน้าอ่าวเพื่อจำกัดช่วงเวลาเข้าออกของเรือ

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติมีแผนงานแก้ไขปัญหาจัดระเบียบเรือในพื้นที่ดังกล่าว  3 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 การจัดการด้านพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว
1.1 เพิ่มทุ่นจอดเรือบริเวณหน้าอ่าวปิเละ เพื่อรองรับการจอดเรือของเรือสปีดโบ๊ต/กรณีน้ำลดลงต่ำที่เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าไปได้
1.2 ของบสนับสนุนในการจัดตั้งทุ่นลอยน้ำสำหรับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำอ่าวปิเละ
ในการควบคุมตรวจสอบการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว
1.3 ของบประมาณจัดทำทุ่นจอดเรือภายในอ่าวปิเละ เพื่อรองรับการจอดเรือ สำหรับกำหนดรอบในการเข้าไปท่องเที่ยว

มาตรการที่ 2 จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย
2.1 ร่วมหารือแนวทางการจัดระเบียบปริมาณเรือที่เข้า-ออก ไปใช้พื้นที่อ่าวปิเละ เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่น และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
2.2 นำความเห็นเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (PAC) เพื่อขอมติรับรอง
การดำเนินการตามมาตรการแนวทางการจัดระเบียบและข้อปฏิบัติในการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวปิเละลากูน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นี้
2.3 ออกมาตรการกำหนดแนวทางการจัดระเบียบและข้อปฏิบัติในการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยว
ปิเละลากูน พร้อมประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องทราบ
2.4 ดำเนินการมาตรการแนวทางการจัดระเบียบและข้อปฏิบัติในการเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวปิเละลากูน พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงานตรวจสอบควบคุม ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
มาตการที่ 3 ตรวจสอบร่วมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม ดูแล การท่องเที่ยวทางเรือ
3.1 เรือที่เข้าไปท่องเที่ยวและให้บริการนักท่องเที่ยว ต้องได้รับอนุญาตประกอบกิจการท่องเที่ยวจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
3.2 เรือที่ให้บริการนักท่องเที่ยวต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.3 ผู้ขับเรือ ต้องผ่านการฝึกอบรม เกี่ยวกับการให้บริการนักท่องเที่ยว การช่วยปฐมพยาบาลขั้นต้นหรือด้านอื่นๆ ที่จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม

จากการประชุมดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเรือหางยาว ผู้ประกอบธุรกิจบนเกาะพีพี รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่เข้ามาท่องเที่ยว ที่จะดำเนินการตามแนวทางและกฎระเบียบที่กำหนด เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับการจัดการที่เหมาะสม สามารถใช้อำนวยประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว ได้อย่างยั่งยืนต่อไป


























กำลังโหลดความคิดเห็น