กาญจนบุรี - นศ.คณะวิศวะฯ ม.มหิดลกาญจนบุรี เผยผลการเผาขยะปัญหาจบ แต่ผลกระทบยาวนาน หากได้รับควันต่อเนื่องอันตรายต่อสุขภาพไม่น้อยกว่าควันบุหรี่
วันนี้ (5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคณะนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ชั้นปีที่ 4 ประกอบด้วย น.ส.กุลวดี ชื่นใจ น ส.ณัฐชยา โกลาเพ็ง นายรพีพัทธ์ อมรศิริอาภรณ์ นายศุภวิชญ์ แจ่มประไพ และนายภัทรพงศ์ อรุณวีระชัย ได้ทำการทดลองเผาตัวอย่างใบไม้แห้ง ชานอ้อย ธูป และขยะทั่วไป รวม 4 ชนิด
โดยวิธีเก็บตัวอย่างอนุภาคควันในระยะเวลา 5 นาที และนำไปวิเคราะห์หาส่วนประกอบโลหะหนักโดยใช้เครื่อง X-ray fluorescence (XRF) spectroscopy ภายใต้คำแนะนำให้คำปรึกษา และควบคุมโดย ผศ.ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ และนายเอกจักร จันทร์ดอน นักวิทยาศาสตร์ หน่วยปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ผลจากการทดลองการวิเคราะห์ธาตุของอนุภาคควันจากการเผา สรุปผลสำคัญดังนี้
• ธาตุซิลิกา (Si) พบได้ทั่วไปและหากได้รับปริมาณสะสมมากจะก่อให้เกิดโรคที่ปอด เรียกว่า Silicosis
• ธาตุนิกเกิล (Ni) ที่พบมากในฝุ่นจากเผาขยะและธูป มีความเป็นพิษต่ำ แต่หากได้รับปริมาณสะสมมากทำให้เกิดผื่นคัน อาการแสบตา อาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ
• ธาตุอะลูมิเนียม (Al) ที่พบจากการเผาใบไม้และใบอ้อย เป็นพิษต่ำแต่หากได้รับในปริมาณสะสมมาก จะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ปวดศีรษะ ความจำเสื่อม
• ธาตุโครเมียม (Cr) พบเล็กน้อยในฝุ่นจากการเผาขยะ มีเป็นพิษต่อผิวหนังและทางเดินหายใจหากได้รับเป็นระยะเวลานานทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุโพรงจมูก และเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งปอด
เห็นได้ว่าหากอยู่ใกล้พื้นที่ที่มีการเผาใบไม้ ธูป ขยะ และชานอ้อย เป็นเวลาสั้นๆ 5 นาที อาจจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในทันที แต่หากได้รับสารพิษนั้นในปริมาณที่มากหรือเป็นประจำอาจส่งกระทบต่อสุขภาพเรื้อรังได้ ข้อแนะนำที่สำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการเผา และตระหนักถึงผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นในระยะยาว ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรหาสถานที่เหมาะสม หรือเผาในพื้นที่โล่ง ห่างไกลชุมชน