เรียกได้ว่าปีนี้ ( 2023 ) เป็นปีที่การประกวดมิสยูนิเวิร์สมีความหลากหลายมากที่สุดเลยทีเดียว เมื่อมีสาวงามทั้ง พลัสไซส์, ข้ามเพศ, คุณแม่ และ สาวงามจากชาติที่เคร่งมุสลิมมาลงประกวด
การประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 72 นับเป็นปีแรกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายมากที่สุด หลังจากที่ทางองค์กรมิสยูนิเวิร์ส ประกาศว่าคนมีลูกแล้ว, แต่งงานแล้ว สามารถเจ้าร่วมประกวดได้ โดยมีกฏให้สาวข้ามเพศสามารถเจ้าร่วมประกวดได้มาตั้งแต่ปี 2012
โดยปีนี้มีสาวข้ามเพศ 2 คน, สาวที่แต่งงานและมีลูกแล้วถึง 2 คน, สาวพลัสไซส์ที่มั่นใจและกระหายมงกุฏ รวมถึงสาวงามที่แต่งตัวมิดชิดจากชาติมุสลิม
มิเชลล์ โคห์น มิสกัวเตมาลา วัย 28 ปี เป็นคุณแม่ลูกสอง, นางแบบ และนักธุรกิจ โดยเธอได้เปิดธุรกิจเกี่ยวกับชุดว่ายน้ำมาตั้งแต่ปี 2016 และจ้างนางแบบเป็นใบ้มาร่วมโปรโมทความเท่าเทียม
“ฉันภูมิใจที่ได้เป็นคุณแม่คนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศ พังกำแพงของมาตรฐานทั่วไป และส่งเสริมพลังหญิง”
มิเชลล์ สามารถเข้าลึกถึงรอบ 20 คนสุดท้าย
กามิลลา อาเบยา เป็นสาวงามจากโคลอมเบีย คุณแม่ลูกหนึ่ง นับเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วคนแรกที่เข้าประกวดบนเวทีนี้
กามิลลา วัย 28 ปี เคยเข้าประกวดมิสโคลอมเบียแล้วเมื่อปี 2018 แต่ไม่ได้รับเลือก แต่หลังจากที่ทางองค์กรมิสยูฯได้ประกาศว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสามารถเข้าร่วมประกวดได้ เธอก็ไม่พลาดโอกาสที่จะเดินตามความฝันอีกครั้ง ในฐานะแม่และภรรยา จนสามารถเข้ารอบลึกถึง 5 คนสุดท้ายของการประกวด
กามิลลา เป็นนางแบบและนักข่าวที่ยกระดับคุณแม่วัยใสด้วยการจัดหาทรัพยากรต่างๆ และอบรมด้านสุขภาพจิต
ริกกี้ วาเลรี คอลเล เป็นสาวข้ามเพศคนแรกที่ได้เป็นมิสยูนิเวิร์สของ เนเธอร์แลนด์
เดือน ก.ค. 2023 ริกกี้ ได้เฉือนเอาชนะผู้เข้าประกวดอื่นๆอีก 9 คน ได้เป็นมิสยูนิเวิร์สเนเธอแลนด์ 2023
ซึ่งเธอนับเป็นสาวข้ามเพศคนที่ 2 ที่เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส โดยก่อนหน้านี้คือ อังเคลา ปอนเซ ตัวแทนจากสเปน ที่เจ้าประกวดเมื่อปี 2018
โดยตอนนี้เธอคือนางแบบในเนเธอแลนด์ และมีโครงการเกี่ยวกับต่อต้านการกลั่นแกล้งทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเผชิญมาตลอดเนื่องจากเพศสภาพของเธอ
มารีนา มาเคเต้ มิสยูนิเวิร์สที่เป็นสาวข้ามเพศคนแรกของ โปรตุเกสวัย 28 ปี
การประกวดที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มารีนา นับเป็นสาวข้ามเพศคนแรกที่คว้ามงกุฏมาได้ จากประวัติที่ส่งให้กองประกวด เจ้าตัวมีความหลงใหลในเรื่องของ ความเท่าเทียม และ การไม่แบ่งแยก
“ฉันภูมิใจที่สุดกับความท้าทายที่ฉันสามารถเอาชนะมันได้ด้วยความกล้าหาญและความแข็งแกร่ง ซึ่งทำให้ในชีวิตฉันสามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์และความเมตตาต่อผู้อื่น”
เจน ดิปิก้า การ์เรตต์ สาวพลัสไซส์ ผู้เจ้าประกวดจากเนปาล วัย 22 ปี
เจน พกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยมในการเป็นสาวพลัสไซส์ที่เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส
เธอสนับสนุนเรื่อง สุขภาพจิต และ ฮอร์โมน หลังจากประสบภาวะซึมเศร้าที่เกิดจาก PCOS ( กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ )
“ถึงเวลาแล้วที่จะส่งเสริมความแตกต่างด้านรูปร่างของผู้หญิง และโอบรับทุกรูปร่างทุกไซส์”
อย่างไรก็ตามในเรื่องของ พลัสไซส์ เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ตัวแทนจากประเทศไทยอย่าง แอนชิลี สก็อต เคมมิส ก็เป็นสาวงามที่ส่งเสริมเรื่อง #realsizebeauty ที่ส่งเสริมเรื่องความหลากหลายด้านรูปร่าง
เอริกา โรบิน มิสปากีสถานคนแรกที่เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส
แม้จะมีกรอบเรื่องของศาสนา แต่ เอริกา ก็เข้าร่วมการประกวดในชุดที่มิดชิด แม้แต่รอบชุดว่ายน้ำก็มาในชุดคลุมมิดชิดที่เรียกว่า “Burkini” ซึ่งเป็นชุดที่ปิดมิดชิดทั้งตัว เผยให้เห็นเพียงใบหน้า มือ และ เท้า ซึ่งมาจากชุดที่เรียกว่า บุรเกาะอ์ ( Burka ) ในอัฟกานิสถานเรียกว่า จาดรี ในเอเชียกลาง เรียกว่า ปารันจา
เอริกา โรบิน เป็นนางแบบวัย 24 ปีที่ต่อสู้เรื่องอคติทางเพศ และความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน
“ฉันภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ได้ยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ฉันเชื่อ เมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่ฉันได้รับการประกาศให้เป็นผู้ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สปากีสถานคนใหม่ ฉันก็ได้รับการต่อต้านจากภาคส่วนต่างๆ ของชุมชน แต่ฉันอยากจะยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ฉันเชื่อ"
“แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ฉันพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายที่อยู่ข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็รักษาค่านิยมของฉันในฐานะหญิงสาวชาวปากีสถานยุคใหม่ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมและมรดกอันล้ำค่าของเรา และแสดงให้โลกเห็นว่าปากีสถานสามารถเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิงได้”
นอกจากมิสปากีสถานแล้ว ยังมี ลูเจน ยาคอบ มิสบาห์เรน ที่มาในชุด Burkini เข้าประกวดในรอบชุดว่ายน้ำเช่นกัน