ในยุค COVID-19 หน้ากากอนามัยเป็นปัจจัยที่ห้าที่คนไทยทุกคนต้องสวมใส่ก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันตนเองจากโรคระบาดทางเดินหายใจ นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยยังสามารถป้องกันผู้สวมใส่จากละอองน้ำลาย และละอองเรณูที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ในบางคน เป็นที่น่าสงสัยว่า หน้ากากอนามัยจะสามารถกักจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือ PM 2.5 ได้ดีหรือไม่ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีของคนไทย หน้ากากอนามัยมีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมากมายและหลากหลายชนิด หน้ากากอนามัยแต่ละแบบและยี่ห้ออาจมีประสิทธิภาพการดักฝุ่น PM2.5 แตกต่างกัน แม้ว่าประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยจะระบุไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าประสิทธิภาพตามนั้นหรือไม่
นางสาวกฤติกา แสวงภาค และนางสาวศลิยา พุทธโคตร นักศึกษาสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ทำการทดสอบหน้ากากอนามัยจำนวน 10 ยี่ห้อที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี นิยมใช้ ทั้งแบบใช้แล้วทิ้งและแบบที่ใช้ซ้ำได้ ทดสอบประสิทธิภาพในระบบปิดโดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัด PM2.5 ที่เรียกว่า AirBeam 2 ของ HabitatMap (https://www.habitatmap.org/airbeam/buy-it-now) ผู้ทดสอบไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ประกอบการหน้ากากอนามัยแต่อย่างใด วิธีทดสอบมุ่งเน้นประเมินประสิทธิภาพของวัสดุที่ทำหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียว ไม่ได้พิจารณาปัจจัยเรื่องการสวมใส่ อย่างไรก็ดี ผลที่ได้รับสามารถนำไปสู่ข้อแนะนำในการเลือกซื้อหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนเบื้องต้นได้
ผลการทดสอบพบว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้งส่วนใหญ่ (6 จาก 7 ยี่ห้อ) มีประสิทธิภาพสูงกว่าข้างบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ผลิตระบุเอาไว้หรือตามมาตรฐานสินค้าที่แจ้งไว้เล็กน้อย โดยมีประสิทธิภาพการป้องกันในการมากกว่า 96% ถึง 100% ในบางยี่ห้อ มีเพียงหน้ากากฟองน้ำ และหน้ากากผ้าที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าข้างกล่องที่ผู้ผลิตระบุเอาไว้ หากมีการซักหน้ากากผ้าเพื่อนำมาใช้ซ้ำ จะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกัน PM2.5 ลดลง หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีราคาต่อหน่วยใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ 1.78 – 2.5 บาทต่อชิ้น ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนเพื่อสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพที่แท้จริงอาจต่ำกว่าที่รายงาน เนื่องจากหน้ากากอนามัยไม่แนบชิดผิวหน้าตลอดเวลา ทำให้ฝุ่นเข้าสู่ระบบหายใจได้โดยไม่ผ่านการกรอง ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด เราควรใส่หน้ากากอนามัยให้กระชับใบหน้ามากที่สุด และควรตระหนักเสมอว่าหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเป็นขยะติดเชื้อ ควรห่อให้ดีและทิ้งในถังขยะ
โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการแนะนำและควบคุมคุณภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อาจารย์เอริกา ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “ข้อมูลที่นักศึกษาดำเนินการจัดทำ เป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษาเห็นประโยชน์ของการเลือกหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกัน PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ยังมีโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้การจัดการฝุ่นละอองในหลากหลายประเด็น
หากประชาชนท่านใดต้องการปรึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ Email arika.bri@mahidol.edu” สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในวันและเวลาราชการ ที่เบอร์โทรศัพท์ 034 585058