เลย - ผอ.อพท.เผยแผนสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงเดินหน้าแน่หลังมติ ครม.สัญจร อนุมัติในหลักการ เบื้องต้นใช้งบกลาง 28 ล้านบาทศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และออกแบบก่อสร้าง ย้ำแผนก่อสร้างกระทบสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในระหว่างนำเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ทำการศึกษาอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เปิดเผยว่า หลังจบการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ จ.หนองบังลำภู ประเด็นเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง จากที่จังหวัดเลย เสนอเข้าในการประชุม ครม.สัญจร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับอนุมัติในหลักการทั้งหมดของโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
กระบวนการยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ศึกษาถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเหมาะสมสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งด้านเทคนิคในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้ายุคปัจจุบันจะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีก่อสร้างที่จะให้มีผลกระทบต่อธรรมชาติที่น้อยที่สุด
นาวาอากาศเอก อธิคุณกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะถูกกระทบบ้างจะเป็นเฉพาะฐานกระเช้า ที่จะเป็นเสา การตั้งเสาจะใช้การขนส่งทางอากาศ และการขนย้ายอุปกรณ์จะใช้เครื่องบิน และด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เชื่อว่าจะทำให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนการศึกษาที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเสนอแบบการก่อสร้าง การยื่น EIA กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ต้องประกอบไปด้วยแบบก่อสร้าง ลงไปถึงรายละเอียดข้อปลีกย่อย
ส่วนรูปแบบก่อสร้างเป็นแบบไหน ใช้วัสดุอะไร วิธีการเป็นอย่างไร ใช้เหล็กขนาดเท่าไร คือสิ่งที่ยังขาดจากการศึกษาครั้งก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการของบการออกแบบ โดยใช้งบกลางจำนวน 28 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ของจังหวัดเลย ได้ยื่นเข้าที่ประชุมครม.สัญจร ที่หนองบัวลำภู ว่าจังหวัดเลยอยากจะใช้งบกลางนำไปใช้ออกแบบก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อจะยื่น EIA ในอนาคตต่อไป
ส่วนทางขึ้นกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ขณะนี้คิดเลือกแล้วมีทั้งหมด 5 เส้นทาง โดยพิจารณาเรื่องของงบประมาณการก่อสร้าง ระยะทาง ความยากง่ายของการก่อสร้าง และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมและมีผลกระทบต่อธรรมชาติเสียหายน้อยที่สุด จะเป็นจุดหลักสำคัญที่จะพิจารณา แต่ที่สนใจมีเส้นทางน่าจะเป็นไปได้ ระยะทางขึ้นเพียง 4.4 กิโลเมตร และหากมีการก่อสร้างจะตั้งเสาเพียง 7-8 ต้นเท่านั้น