xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดึงดัน “กระเช้าภูกระดึง” ผลประโยชน์มาก่อน ผลกระทบตามแก้ทีหลัง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การผลักดันสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เป็นมหากาพย์ที่วนมาฉายซ้ำท่ามกลางเสียงหนุนเสียงค้านที่ยันกันเหมือนที่ผ่านมา โดยคราวนี้ “เจ๊แจ๋น” นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เปิดเกมสานฝันให้เป็นจริง

“เจ๊แจ๋น” ถือโอกาสในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 เสนอของบกลาง จำนวน 28 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

การเขี่ยลูกของ “เจ๊แจ๋น” ทางนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาช่วยหนุนในทำนองว่าต้องหารือกันหลายฝ่าย แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องความคล่องตัวในการอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว ทำให้สามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ดีขึ้น

“ถ้าทุกอย่างไม่มีปัญหา ทุกฝ่ายเข้าใจ รัฐบาลนี้ก็พร้อมทำได้ เกิดประโยชน์ก็พร้อมทำ ย้ำว่าต้องศึกษาให้ชัดเจน” นายภูมิธรรม กล่าวด้วยท่าทีพร้อมเดินหน้า

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบายว่า การของบครั้งนี้เป็นเพียงการของบประมาณเพื่อสำรวจและออกแบบก่อสร้าง เพื่อประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ต้องมีการแนบแบบก่อสร้าง ไม่ใช่การเสนอเพื่อขออนุมัติก่อสร้าง โดยจะมีการเก็บข้อมูลและความเป็นไปได้ในการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 - กันยายน 2568

แม้โครงการสร้างกระเช้าภูกระดึง จะเริ่มตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่การของบเพื่อสำรวจและออกแบบก่อสร้างครั้งนี้ก็นับเป็นการรุกคืบที่สำคัญ บ่งบอกว่าความพยายามจะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงยังไม่สิ้น แถมแรงขับรอบนี้ยังมาจาก “เจ๊แจ๋น” “เจ้าแม่นครบาล” ของพรรคเพื่อไทย ผู้ซึ่งเริ่มชีวิตทางการเมืองด้วยการเป็น สส.สมัยแรกที่จังหวัดเลย เมื่อปี 2539

เธอบอกว่า ด้วยความที่เคยเป็น สส.จังหวัดนี้ ทำให้อยากเห็นการเดินหน้าสร้างกระเช้าภูกระดึงเพื่อคนจังหวัดเลย หนุนส่งจุดขายเมืองเลยจังหวัดแห่งการท่องเที่ยวซึ่งต้องทำให้เกิดการท่องเที่ยวได้ทั้งปี การมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงเป็นทางเลือกใหม่ ส่วนรูปแบบเดิมคือการเดินขึ้นเขายังมีอยู่ ส่วนผู้สูงอายุที่อยากเห็นยอดภูกระดึง ก็ให้เลือกขึ้นกระเช้าไฟฟ้าได้ เชื่อว่าถ้าหากเป็นความเจริญของจังหวัดเลยคนก็จะเห็นชอบ เพราะจะมีรายได้เข้าจังหวัดจำนวนมาก
เช่นเดียวกันกับ นายภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง ซึ่งออกโรงหนุนการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงว่าโครงการนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่คนภูกระดึงหวังและรอมานาน และมีมากถึง 99 % เห็นด้วยกันทั้งอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นลูกหาบ ร้านค้าต่าง ๆ ในอำเภอภูกระดึงและบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งลูกหาบส่วนใหญ่อายุมากแล้ว เริ่มทำอาชีพลูกหาบไม่ไหว และยังมีปัญหานักท่องเที่ยวเสียชีวิตเกิดขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่บริเวณซำแฮกหรือก่อนถึงบริเวณซำแฮก ยังมีเรื่องการนำคนเจ็บป่วยลงจากภู ที่สำคัญปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจำนวนลดลงทุกปี ชาวภูกระดึงอยากมีรายได้จากการท่องเที่ยวกลับมา
ส่วนข้อกังวลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม นายภูริวัจน์ เชื่อว่า คนภูกระดึงก็รักและหวงแหนสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน จึงต้องฝากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ที่ศึกษาจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า อพท.ได้รับงบศึกษาทบทวน EIA เมื่อปี 2565 และเพิ่งได้รับอนุญาตให้เข้าสำรวจในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ขณะนี้ทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพาและภาคีที่เกี่ยวข้องเตรียมเข้าพื้นที่ศึกษาผลกระทบ หลังจากจัดทำรายงานเสร็จจะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติ

เบื้องต้น อพท.สำรวจเส้นทางตามที่เคยมีการศึกษาไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยผลการศึกษาครั้งก่อนระบุถึงเส้นทางที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุดคือ เส้นทาง B มีระยะทาง 4.4 กิโลเมตร ส่วนการมีกระเช้าจะกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ต้องจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปในแต่ละวันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการศึกษาเดิมระบุว่าสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 5,000 คน แต่การศึกษาใหม่ต้องพิจารณาให้มีจำนวนลดลงกว่าเดิม

นายสนธิ คชวัฒน์ อาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่สมาคม/สถาบันและมหาวิทยาลัยของรัฐ 7แห่ง ชี้ประเด็นว่า ผลประโยชน์หรือผลกระทบการสร้างกระเช้าภูกระดึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดี กล่าวคือ หนึ่ง ภูกระดึงเป็นป่าดิบเขาที่มีลักษณะเฉพาะตัวมีระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์ ซึ่งทั้งโลกมีเพียงแค่ 3%เท่านั้น จึงจัดให้เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางต่อการถูกทำลายอย่างมาก กระเช้าขึ้นภูกระดึงสามารถนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปได้ถึงวันละ 4,000 คน การควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวจะทำได้ทั่วถึงหรือไม่ ในเมื่อนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ยังดูแลได้ไม่ทั่วถึงเลย

สอง การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงอาจจะขัดแย้งต่อจุดประสงค์หลักของการจัดตั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นั่นก็คือเพื่อรักษาพื้นที่ป่าและเป็นแหล่งศึกษาวิจัย ส่วนประเด็นรองลงมาคือการให้บริการเพื่อสันทนาการ แต่สิ่งที่ไม่ใช่จุดประสงค์ของการตั้งอุทยานแห่งชาติก็คือ การกอบโกยรายได้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

สาม โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นเขาภูกระดึง จังหวัดเลย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เมษายน 2555 ต้องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการและคณะกรรมกาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะดำเนินการก่อสร้างได้ แต่ที่ผ่านมาหากเป็นโครงการของรัฐแล้ว มักจะผ่านความเห็นชอบเกือบทุกโครงการ ดังนั้นการทำรายงาน EIA ให้ผ่านจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับการพัฒนาโครงการ Mega project ระดับแค่นี้ ยกเว้นจะมีเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก จึงจะยอมถอย

ทางด้านนายศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อดีตประธานมูลนิธิ สืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #กระเช้าภูกระดึง โจทย์ที่ต้องตัดสินใจของประเทศไทย 3 ข้อ ถ้าทำกระเช้าภูกระดึง จะมีสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์หลายประการ

ประการแรก ธุรกิจที่สัมพันธ์กับอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารพาณิชย์ ที่มีคนครอบครองอยู่รอบ ๆ ภูเขาภูกระดึง และเส้นทางสู่ภูกระดึงจะคึกคัก ทั้งการเพิ่มมูลค่า การหมุนเวียนของเม็ดเงินต่าง ๆ ในการขยายกิจการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น และหมุนเวียนมาเยือนเพื่อขึ้นลงกระเช้าไปที่ราบกว้างใหญ่บนยอดเขา ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้สองเท้าเดิน

ประการที่สอง ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองขึ้นไม่ไหว ไม่มีเวลา และไม่กล้าขึ้น รวมถึงผู้มีข้อจำกัดเรื่องอายุและสภาพร่างกายมีโอกาสขึ้นไปได้ และกระเช้าไฟฟ้าอาจช่วยนำคนเจ็บป่วย บาดเจ็บ ขยะ ขนส่งข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ขึ้นไปได้ง่ายขึ้น นี่เป็นเหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่การสร้างกระเช้าภูกระดึง มีโจทย์ที่ไม่มีใครคิดจะตอบ 3 ข้อ 3 ระดับ #ระดับที่ 1 ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท การจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวไม่แพง รวมถึงเมื่อขึ้นไปแล้วมีที่สวยๆ ให้เดินเที่ยวมากมาย เรียกว่าคุ้มค่าเดินขึ้นและเดินเที่ยว

สิ่งที่ว่ามาทำให้ภูเขาลูกนี้ทำหน้าที่มอบความรักธรรมชาติ ให้เราได้ซึมซับความงามทั้งจากธรรมชาติและมิตรภาพระหว่างทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่บังเกิดขึ้นมากมายระหว่างความอดทนตอนเดินขึ้น สถานที่แบบนี้ในไทยมีที่เดียวคือ “ภูกระดึง” ส่วนที่อื่นๆ มีถนนขึ้นถึง หรือเดินไกลเกินไป เดินไปถึงแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก ดังนั้น เมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามา ย่อมสู้ความสบายเย้ายวนจากการขึ้นกระเช้าไม่ได้ คนจะเดินขึ้นก็คงมีน้อยยิ่งกว่าน้อย

พวกที่เลือกเดินจึงเป็นคนที่รักธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ไม่ต่างจากการขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่น ๆ ที่กลับมาแล้วไม่มีความหมายอะไร ภูกระดึงทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมากว่า 50 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงปัจจุบัน การมีกระเช้าหมายถึงเราเลิกใช้ฟังก์ชันนี้ของภูกระดึงแล้ว จะเทียบไปคงเหมือนเปลี่ยนวัด โบสถ์ วิหาร เป็นบอร์ดนิทรรศการพุทธศาสนา นี่คือเรื่องที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกทิ้งคุณค่าจากสิ่งนี้ไปหรือไม่

#ระดับที่ 2 จากผลการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (เช่น ตัดต้นไม้ไม่กี่ต้น) แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้า ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ ๆ เช่น อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ

ที่สำคัญคือ ถนนหนทางข้างบนที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่เตรียมตัวไป “เดิน” และไม่พร้อมจะรับรู้ทั้งนั้นว่าทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมที่ท่องเที่ยวที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่ รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะต่าง ๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ เราพร้อมจะปล่อยให้ที่สวย ๆ ข้างบนพังไปอีกที่ใช่หรือไม่

#ระดับที่ 3 ถ้ามีคนขึ้นไปจำนวนมาก เราพร้อมเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์อันอุดมด้วยธรรมชาติไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวข้างบนในอนาคตเลยหรือไม่ หากนโยบายวันข้างหน้าจะเอาอย่างนั้น ยกเลิกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไปเลย นี่คือเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระเช้ามาในระดับท้ายสุด

รัฐบาลนี้ต้องตอบทั้ง 3 คำถามก่อนตัดสินใจ ผมรอฟังอยู่ ก่อนตัดสินใจขึ้นกระเช้าไปทำลายภูกระดึงเดิม ๆ ด้วยกัน

เป็นเสียงทักท้วงของอดีตประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่มีมาตั้งแต่เมื่อปี 2559 คราวที่ ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบผลการศึกษาโครงการ และครั้งนี้ก็เช่นกัน

ขณะที่ น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงในทางวิศวกรรมการก่อสร้างไม่น่าห่วงเพราะขณะนี้เทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว แต่อาจจะมีบ้างในช่วงก่อสร้างที่มีคนงานเข้าไปในพื้นที่ หากบริหารจัดการไม่ดีอาจกระทบต่อสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อมได้ ส่วนประเด็นสำคัญที่กังวล คือ ขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว จะมีจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว หรือบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไรให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลอุทยานฯภูกระดึงและหลายอุทยานฯ ก็มีปัญหาในเรื่องนี้ ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนมาก และเกิดปัญหาทั้งในเรื่องขยะและปัญหาอื่น ๆ ตามมา

มหากาพย์ผลักดันสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มีมาร่วม 40 ปีแล้ว โดยแนวคิดริเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี 2525 โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เสนอกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ พิจารณาสร้างระบบขนส่งขึ้นและลงอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ถัดจากนั้นอีก 2 ปีต่อมา คณะอนุกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาผลกระทบจากการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

ต่อมาปี 2541 กรมป่าไม้ ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียร์ จำกัด ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า และปี 2555 ครม.มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ อพท.ศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

หลังจากนั้น ปี 2556 อพท.ว่าจ้าง ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัทแกรนด์เทค จำกัด และบริษัท ไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยใช้ประมาณประจำปี 2557 จำนวน 23 ล้านบาท เมื่อรายงานขั้นสุดท้าย “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” เสร็จสมบูรณ์ ได้เสนอต่อครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และครม.มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบผลการศึกษาโครงการฯ โดยมีความเห็นว่าเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งด้านการเงินและด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ใช้วงเงินงบประมาณ 633.89 ล้านบาท

ผลศึกษาฯ สรุปผลการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน ประมาณการผลประโยชน์และต้นทุนของโครงการระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี โดยด้านการเงิน โครงการฯ มีความคุ้มค่าในการลงทุนในกรณีที่อัตราส่วนลดเท่ากับร้อยละ 7 และ IRR (The internal rate of return method: IRR วิธีวัดผลตอบแทนจากการลงทุน ) เท่ากับร้อยละ 7.16 ส่วนทางด้านเศรษฐศาสตร์มีความคุ้มค่าในการลงทุนทุกกรณี โดยมี IRR เท่ากับร้อยละ 17.62 โดยความคุ้มค่าส่วนใหญ่อยู่ในรูปของผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน การสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเลยและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงโอกาสให้เกิดแรงงานคืนถิ่นส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ

การพัฒนากระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จะก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่เป็นเครื่องมืออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากการเดินทางขึ้นสู่ยอดภูกระดึง สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในภารกิจการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งยังช่วยขนย้ายผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บในกรณีฉุกเฉิน และการขนส่งขยะของเสียต่างๆ ลงมากำจัดในพื้นที่ด้านล่างและเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยว ขยายโอกาสการเดินทางมาท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในแหล่งอื่นโดยรอบ

ส่วนแนวเส้นทางและตำแหน่งที่ตั้งของสถานีกระเช้าไฟฟ้า ผลการศึกษาพบว่า ทางเลือก B มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยมีความยาวทางราบ 4.40 กิโลเมตร สถานีต้นทางและปลายทางอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยสถานีต้นทางอยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 3.50 กิโลเมตร ส่วนสถานีปลายทางตั้งอยู่ห่างบริเวณหลังแปไปทางทิศตะวันตกประมาณ 600 เมตร และมีระยะจากสถานีปลายทางไปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 3.70 กิโลเมตร ความลาดชันเฉลี่ยของแนวกระเช้าไฟฟ้า 27% และมีเสารองรับจำนวน 7 ต้น

ในส่วนของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง สรุปได้ว่า พื้นที่ที่ต้องใช้เพื่อการก่อสร้าง ประกอบด้วย พื้นที่ต้นทางและปลายทาง เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 4 น้อยมาก, การก่อสร้างจะไม่มีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ มีจำนวนไม้ที่ต้องสูญเสียประกอบด้วย ลูกไม้ 394 ต้น กล้าไม้ 1,512 ต้น และไม้ไผ่ 66 ลำ, พื้นที่โครงการไม่อยู่ในเขตแหล่งอาศัยหรือหากินที่สำคัญของสัตว์ป่า

หลังจาก ครม. พล.อ.ประยุทธ์ มีมติออกมา จุดกระแสการคัดค้านอย่างกว้างขวาง ทำให้การผลักดันโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงเงียบลงไป กระทั่งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เปิดวอร์ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะจบลงเช่นใด

เพราะถ้าหากมีโอกาสทำได้จริง กระเช้าไฟฟ้าขึ้นสู่ยอดภูกระดึง คงไม่เป็นมหากาพย์มายาวนานจนถึงบัดนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น