xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมห่วงผลกระทบจากไฟไหม้ถังสารเคมีเสื่อมสภาพ กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมห่วง ผลกระทบจากไฟไหม้ถังสารเคมีเสื่อมสภาพ กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ พร้อมตั้งคำถามโรงงานขออนุญาตเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผสมเคมี ปุ๋ยเคมีเม็ด แต่กลับมีถังสีซึ่งมีสารทินเนอร์สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมีการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง

จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานปุ๋ย ส.สิทธิ์สว่าง เลขที่ 205/1 หมู่ 2 ต .ดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีนายสุชาติ ชัยรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 3/4 หมู่ 3 ต.ดอนชะเอม อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เป็นผู้เช่าเอาไว้สำหรับเก็บถังสีเสื่อมสภาพประมาณ 100 กว่าถัง สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากไฟลุกลามมาจากพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 22.22 น.ของคืนที่ผ่านมา โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงไฟจึงสงบ

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยให้ความเห็น และข้อสังเกตกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสีทาบ้านผสมทินเนอร์ของโรงงานห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.สิฐสว่างการเกษตร ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 ต.ดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยไฟไหม้ในถังเหล็กบรรจุสีทาบ้านขนาด 200 ลิตร ซึ่งโรงงานซื้อมาทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับไว้เผากล่องกระดาษอัดเพื่อเอาลวดไปขาย เพลิงได้ลุกลามไปยังถังสีมากกว่า 100 ถังที่วางตั้งอยู่ห่างจากโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไปประมาณ 200 เมตร เกิดไฟไหม้หลายชั่วโมงทำให้มลพิษทางอากาศฟุ้งกระจายไปทั่วมากกว่า 500 เมตร

ทำให้เกิดคำถามว่า 1.โรงงานนี้ขออนุญาตเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผสมเคมี ปุ๋ยเคมีเม็ด แต่กลับมีถังสีซึ่งมีสารทินเนอร์สะสมอยู่เป็นจำนวนมากจึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เป็นการเก็บสารอันตรายโดยไม่ได้ขออนุญาตหรือไม่ 2.การเผากล่องกระดาษอัดเพื่อลวดมาใช้ในภาชนะถังเหล็กใส่สีเป็นการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการจัดการกากไม่อันตรายดังกล่าวต้องเผาในเตาเผาขยะไม่ใช่ในถังเหล็กบรรจุสี

3.ทินเนอร์ในถังสีเป็นการนำตัวทำละลาย (Solvent) มาผสมกัน ได้แก่ แอลกอฮอล์ (Alcohol) เอสเตอร์ (Ester) คีโตน (Ketone) อะโรมาติก (Aromatic) อีเตอร์ (Ether) และกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เมื่อเกิดเพลิงไหม้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ควันดำ ฝุ่นละอองPM2.5 และสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs ได้แก่ สารเบนซิน โทลูอีน และไซลีนซึ่งมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอย่างมาก ประชาชนต้องหลีกเลี่ยงการสูดดม การดับเพลิงที่ไหม้ทินเนอร์ต้องใช้โฟมดับเพลิง ผงเคมี คาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าใช้น้ำต้องฉีดให้เป็นฝอยฟุ้งกระจายคล้ายหมอก ถ้าใช้น้ำฉีดเข้าไปตรงๆ จะดับไฟไม่ได้ เนื่องจากทินเนอร์มีตัวทำละลายที่เป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่เบากว่าน้ำ สารพวกนี้จะลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำและลุกไหม้ได้

4.หน่วยงานราชการต้องเข้าไปตรวจสอบระบบความปลอดภัยในโรงงานทั้งการเก็บสารไวไฟดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยครบหรือไม่ ระบบเตือนภัย ระบบดับเพลิง การซ้อมแผนฉุกเฉิน แผนเผชิญเหตุและแผนอพยพพร้อมหรือไม่ และ 5.ตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพอากาศและสารเคมีตกค้างในดิน น้ำรอบๆโรงงาน ทำการสอบสวนสาเหตุและหามาตรการป้องกันแก้ไขต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น