xs
xsm
sm
md
lg

“พิมพ์ภัทรา” เล็งดึงโรงงานพลุเข้าข่ายเป็นโรงงาน หวังคุมความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิมพ์ภัทรา” หวั่นปัญหาซ้ำซากโรงงานพลุระเบิดส่งซิกอาจดึงสถานประกอบการผลิตพลุเข้าข่ายเป็นโรงงาน หวังคุมความปลอดภัยชีวิต-ทรัพย์สินพี่น้องประชาชน

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุระเบิดที่สถานประกอบการผลิตพลุ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งตรวจสอบซึ่งพบว่าเป็นโรงงานประกอบกิจการผลิตประทัดลูกบอลไล่นก ชนวนดำใช้กับพลุ มีคนงานประมาณ 30 รายใช้แรงงานคนในการบรรจุดินปืนโดยไม่ใช้เครื่องจักรแต่อย่างใดจึงไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานที่ต้องมีคนงานเกิน 50 ราย และใช้เครื่องจักรประกอบกิจการ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชนจึงอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็น อาจต้องกำหนดให้การประกอบกิจการประเภทนี้ เข้าข่ายเป็นโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อที่กระทรวงฯ จะได้เข้าไปมีส่วนกำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการ กำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม

“ที่ผ่านมาช่วงเดือน ก.ค. 66 เคยเกิดเหตุการณ์โกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิดในพื้นที่ตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้พื้นที่ชุมชุมโดยรอบกว่า 500 เมตร เสียหายอย่างหนัก มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมากมาแล้วเช่นกัน และปัญหานี้ก็เกิดบ่อยจึงคิดว่าอาจต้องกำหนดให้การประกอบกิจการประเภทนี้ เข้าข่ายเป็นโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อที่กระทรวงฯ จะได้เข้าไปมีส่วนกำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการ กำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความรอบคอบรัดกุม เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอยเช่นนี้อีก” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีพลุระเบิดใน จ.สุพรรณบุรีนั้นผู้ประกอบกิจการรายนี้มีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง เป็นการออกให้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย และได้ตรวจสอบพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และไม่พบว่าสารโพแทสเซียมคลอเรต ที่ใช้ในการจัดทำดอกไม้เพลิงนี้จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

“หลังจากเกิดเหตุได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัด ให้เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และให้รายงานกลับมา เบื้องต้นแม้ว่าสถานประกอบกิจการดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมตรง แต่ได้ให้หน่วยงานเข้าไปให้ความรู้และสนับสนุนการจัดความความปลอดภัยในโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น