สมุทรสงคราม - ชาวประมง จ.สมุทรสงคราม กว่า 100 คนรวมตัวบุกศาลากลางจังหวัด ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือราคาสัตว์น้ำตกต่ำ แต่ต้นทุนสูง หลังสัตว์น้ำเถื่อนทะลักเข้าประเทศจนทนไม่ไหว วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือด่วนก่อนจะหมดอาชีพ
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ได้มีผู้ประกอบอาชีพประมงประมาณ 100 คน นำโดย น.ส.สาวิกา ศิริบุญญาวงศ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด นายสมพร สมุทรโสภากุล ที่ปรึกษาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด และนายชินชัย สถิรยากร นายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม ได้พากันเดินทางไปที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมถือป้ายข้อความ “สัตว์น้ำนำเข้าถล่มตลาด ราคาปลาตกต่ำ ต้นทุนสูง” “ท่านผู้ว่าฯ ช่วยชาวประมงด้วย ชาวประมงอยู่ไม่ไหวแล้วครับ” เพื่อยื่นหนังสือต่อนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้เร่งช่วยเหลือชาวประมง เนื่องจากขณะนี้ราคาสัตว์น้ำได้ตกต่ำลงอย่างมากจนแทบไม่คุ้มทุนโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามลงมารับหนังสือ
น.ส.สาวิกา และนายชินชัย เผยว่า ที่พี่น้องชาวประมงต้องรวมตัวกันมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ ครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์สินค้าสัตว์น้ำขณะนี้ราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก ขณะที่ชาวประมงมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าน้ำแข็ง อีกทั้งค่าแรงงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่สำคัญมากคือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า) ที่ผ่านเข้ามาตามด่านชายแดนจังหวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กาญจนบุรี เป็นต้น ยกตัวอย่าง เช่น การนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำเฉพาะผ่านด่านตรวจประมงประจวบคีรีขันธ์ ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 พบว่ามีการน้ำเข้าถึง 39,718,369 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวม 2,195,330,955 บาท
ขณะที่มีการส่งออกเพียงแค่ 21,363 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวม 66,110,310 บาท เป็นต้น จึงนำเรื่องนี้ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอให้ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลพิจารณาแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน ก่อนที่พี่น้องชาวประมงจะทนแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวจนต้องหยุดทำการประมงไปในที่สุด หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้เชื่อได้ว่าอาชีพประมง ซึ่ง จ.สมุทรสงครามถือว่าเป็นอาชีพหลักจะล้มหายตายจากไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน
ด้านนายสมพร สมุทรโสภากุล ที่ปรึกษาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 9 แล้วที่ชาวประมงตั้งใจช่วยเหลือภาครัฐเพื่อปลดล็อก IUU จนวันนี้ปลดล็อกสำเร็จแล้ว แต่กลับปล่อยให้สินค้าประมงที่พูดตรงๆ คือสินค้าประมงเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังติดแบล็กลิสต์ใบแดงไม่ผ่านกฎ IUU ให้เอาเข้ามาขายกันโดยดูเพียงแค่ใบผ่านทาง ที่สำคัญมีการปล่อยให้เข้ามาไม่ใช่น้อย จนเกือบจะล้นตลาด ซึ่งเข้ามาเป็นปีแล้ว เกินขีดการบริโภคคนในประเทศ ทั้งที่ชาวประมงในประเทศต้องแบกรับต้นทุนที่สูงอยู่แล้ว ถ้าปล่อยไปเราจะแบกรับภาระตรงนี้ได้อย่างไร ในเมื่อสินค้าไม่ถูกกฎหมายเข้ามาตีตลาด ขายถูกๆ แล้วชาวประมงในประเทศจะขายสูงกว่านี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ต้องขายถูกตามทั้งที่ต้นทุนมันสูง เพราะไม่ขายก็ไม่รู้จะเอาไปไหนได้ มันต้องเน่าเสีย
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่ต้องผ่านเกณฑ์ IUU อะไรเลย ต้นทุนต่ำก็ขายถูกได้ การปล่อยให้เข้ามาแข่งขันกับสินค้าประมงในประเทศ จึงอยากถามว่ามันเป็นธรรมต่อชาวประมงที่พยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎ IUU ไหม ชาวประมงขาดทุนค่อยๆ ตายไปทุกวัน ตั้งแต่เกิดมา 40 ปี ที่ทําธุรกิจประมงไม่เคยเจออะไรที่หนักหน่วงเช่นนี้ อย่าให้อาชีพประมงล้มหายตายจากไปจากประเทศ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือด้วย
ขณะที่นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมง จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวประมงต้องทําเรื่องติดตามไปที่กรมประมงเพื่อจะได้หาแนวทางในระดับนโยบายต่อไปว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะควบคุมการนําสินค้าประมงจากต่างประเทศเข้ามา และต้องเข้ามาอย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในเรื่องราคาและเรื่องอื่นๆ ส่วนเรื่องที่ชาวประมงบอกว่าสินค้าประมงที่เข้ามาตีราคาในตลาดคือสินค้าที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และติดใบแดง IUU จึงต้นทุนต่ำขายถูกมากจะต้องแก้ในระดับนโยบาย เบื้องต้นได้มีการสั่งการตรวจเข้มที่หน้าด่านทุกด่านแล้ว แต่นโยบายระดับประเทศต้องดำเนินการกันต่อไป
นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผวจ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า หลังได้รับหนังสือจะนำความเดือดร้อนของชาวประมงสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะติดตามเรื่องนี้ให้ โดยจะผลักดันและติดตามให้เร็วที่สุด ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่ยังไม่สามารถตอบได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งชาวประมงอย่างแน่นอน