xs
xsm
sm
md
lg

“ครูบำนาญ” แห่ร้องสื่อ-ส.ส.! โดนหลอกกู้เงินลงทุนโครงการทิพย์ สูญแล้วร่วม 100 ล้าน-ตรอมใจตายแล้ว 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำพูน - “ครูบำนาญลำพูน” แห่ร้องทั้งสื่อ-ส.ส.ถูกหลอกกู้เงินใน-นอกระบบ ยันกดบัตรเครดิต ร่วมลงทุนทั้งซื้อหุ่นยนต์เฝ้าบ้าน ซื้อมันสำปะหลัง ลงทุนอสังหาฯ แลกปันผลสูง-ปลดหนี้สหกรณ์ฯ ได้ สุดท้ายกลายเป็นโครงการทิพย์ สูญเงินรวมร่วม 100 ล้าน แจ้งความแล้วตัวการสำคัญกลับโดนกันชื่อออกซ้ำ


นายชัยรัตน์ รัตนมาลา อายุ 63 ปี อดีตรอง ผอ.โรงเรียนชื่อดังประจำจังหวัดลำพูน ตัวแทนกลุ่มครูเกษียณในพื้นที่จังหวัดลำพูนกว่า 20 คน ได้รวมตัวกันเข้าร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนเพื่อขอความเป็นธรรม-เร่งรัดคดี หลังจากถูกหลอกลงทุนซื้อหุ่นยนต์เฝ้าบ้าน ลงทุนซื้อมันสำปะหลัง หวังปลดหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สุดท้ายเป็นแค่โครงการทิพย์สูญเงินรวมกว่า 100 ล้านบาท และมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้วไม่คืบ หนำซ้ำตัวการสำคัญกลับถูกกันออกไม่เป็นผู้ต้องหา

เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2564 สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ลำพูน จำกัด จำนวน 132 คน ได้รับการชักชวนจากนายมานิตย์ (ขอสงวนนามสกุล) กลุ่มนายทุน และนายสมคิด (ขอสงวนนามสกุล) อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำพูนจำกัด และในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทนครไทยธุรกิจ จำกัด ที่มีนายภาวัต (ขอสงวนนามสกุล) ประธานกรรมการ-กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และบริษัทรัตนาภรณ์ แอ็นเนอร์จี จำกัด ให้กู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำพูน มาร่วมลงทุนผลตอบแทนเงินปันผลสูง

ซึ่งสมาชิกสหกรณ์ฯ หลงเชื่อและนำเงินกู้ต่างๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำพูน เช่น กู้เงินตาย 30 เท่า กู้เงินกระดูก บำเหน็จดำรงชีพ ร้อยละ 10 ร้อยละ 20 นำไปลงทุน เพื่อหวังเงินปันผลที่ได้มากกว่า เพราะโครงการต่างๆ ที่ถูกชักชวนไปลงทุนในโครงการต่างๆ เช่นโครงการหุ่นยนต์ โครงการมันสำปะหลัง โครงการอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ อ.เถิน จ.ลำปาง โดยอ้างว่าจะมีกลุ่มทุนจีนมาอยู่ในพื้นที่โครงการ โครงการรถยนต์ โครงการร้านค้า โครงการเครื่องทำน้ำดื่ม

หลายคนหวังจะได้เงินปันผลมาปิดหนี้สหกรณ์ที่เป็นหนี้อยู่ตั้งแต่ตอนรับราชการ บางรายยอมลงทุนไปกู้เงินจากนายทุนนอกระบบมาเสียดอกเบี้ยร้อยละ 10 บาท บางคนใช้บัตรเครดิตกดเงินสดออกมา บางคนใช้เงินก้อนสุดท้ายหลังเกษียณไปร่วมลงทุน

แต่สุดท้ายเป็นเพียงแค่โครงการทิพย์ ไม่มีอยู่จริง สร้างความเสียหายแก่ครูที่เกษียณอายุราชการที่เป็นหนี้สหกรณ์อยู่ที่หวังจะได้เงินมาปลดหนี้กลับเป็นหนี้มากกว่าเดิม เป็นการซ้ำเติม มีครูคิดมากจนตรอมใจตายไปแล้ว 1 ราย หนำซ้ำหลายรายยังต้องถูกฟ้องร้องเพราะไม่สามารถหาเงินไปคืนได้ ส่งผลเสียต่อครอบครัว รวมถึงสภาพจิตใจของทุกคนเพราะอายุมากแล้วยังต้องมาเป็นหนี้เพิ่มและเกิดความเครียด

“ความเสียหาย เฉพาะที่ไปแจ้งความกันแล้ว รวมเงินทั้งหมดเกิน 60 ล้านบาท แต่ถ้ารวมยอดเงินคนที่ไม่กล้ามาแจ้งความ อีกรวม 132 ราย คาดว่าความเสียหายน่าจะร่วมๆ 100 ล้านบาท”


ตัวแทนครูลำพูนระบุว่า หลังจากทราบว่าไม่ได้เงินตามที่คาดหวังและแน่ใจว่าพวกเราถูกหลอกแน่ๆ แล้ว จึงได้รวมตัวกันไปแจ้งความเมื่อกรกฎาคม 2566 โดยระบุชัดเจนว่าใครบ้างที่ร่วมขบวนการโกงในครั้งนี้ แต่ในใบบันทึกแจ้งความกลับไม่มีชื่อบางคนที่ร่วมขบวนการ เช่น นายสมคิด อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ ผู้ที่สร้างความน่าเชื่อถือในฐานะประธานสหกรณ์ฯ เป็นผู้ชักชวนพวกตนไปลงทุน และสร้างภาพในการเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสร้างความมั่นใจสร้างความเชื่อก่อนลงทุน

“นายสมคิดได้ถูกกันออกไปไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา ทำให้พวกเราข้องใจว่าทำไมเขาจึงถูกกันออกไป ทำให้พวกเราไม่เชื่อถือตำรวจบางนาย จึงต้องพากันมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับสื่อมวลชน และจะเดินทางไปร้องกับนายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ส.ส.ลำพูน เขต 1 ที่สำนักงานด้วย”

หลังจากนั้นทั้งหมดก็พากันเดินทางไปพบ ส.ส.ลำพูน ซึ่งมีการมอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ ส.ส.และเข้าร่วมประชุมหารือกันกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งนายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ส.ส.ลำพูน เขต 1 ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เบื้องต้นได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการครูถูกหลอกนำเงินไปลงทุน ซึ่งดูตามเอกสารที่ส่งมาระบุความเสียหายประมาณ 20 ล้านบาท แต่ถ้าหากร่วมทั้งหมดคาดว่าน่าจะเกือบๆ 100 ล้านบาท มีข้าราชการครูที่มาให้ข้อมูลเบื้องต้น 56 ราย แต่รวมทั้งหมดทราบว่ามีผู้เสียหาย 132 ราย ซึ่งตนเองจะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดไปให้กับทีมกฎหมายของพรรคก้าวไกล เพื่อจะหาช่องทางช่วยเหลือต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น