xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อคดีโกงเงินสหกรณ์ตำรวจลำพูนแห่ยื่นอัยการฯ ขอคุ้มครองสิทธิ พบ ตร.บางรายโดนสวมชื่อกู้ถึง 3 รอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำพูน - เหยื่อทุจริตเงินสหกรณ์ตำรวจลำพูนแห่เขียนคำร้องยื่นอัยการฯ ขอให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิ พบตำรวจเกษียณโดนสวมสิทธิกู้เพียบ บางรายมีชื่อกู้เงินถึง 3 รอบ รวมกว่าล้านบาท ทำให้อดเงินปันผลกว่าครึ่งแสน-เสี่ยงไม่ได้เงินกองทุนสงเคราะห์หลังเสียชีวิตอีก


วันนี้ (4 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ทั้งเกษียณอายุราชการแล้ว และยังรับราชการอยู่ ต่างเร่งเขียนคำร้องยื่นอัยการจังหวัดลำพูน เพื่อขอให้ความช่วยเหลือ และคุ้มครองสิทธิ กรณีทุจริตเงินสหกรณ์ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 208 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อสิทธิของข้าราชการตำรวจที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เป็นอย่างมาก

พร้อมกันนี้ ได้นำนิติกรและทนายอาสาลงพื้นที่ที่ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรอำเภอบ้านโฮ่ง และห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรป่าซาง เพื่อให้คำปรึกษา และคำแนะนำแก่ผู้ที่ถูกสวมสิทธิ-ถูกสวมชื่อนำไปเป็นผู้ค้ำประกัน หรือได้รับผลกระทบ จากการที่ไม่ได้รับเงินปันผล และเฉลี่ยคืน กรณีที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผลและเฉลี่ยคืน และข้าราชการตำรวจผู้ได้รับผลกระทบ

และจากการที่ได้ลงพื้นที่ ทราบว่ามีข้าราชการตำรวจ และข้าราชการตำรวจบำนาญที่ได้รับผลกระทบสิทธิยังไม่ทราบข่าวเป็นจำนวนมาก จึงได้กำหนดวันให้ข้าราชการตำรวจและข้าราชการตำรวจบำนาญที่ยังไม่ทราบรายละเอียดเดินทางมายื่นคำร้องที่สำนักงานอัยการ จังหวัดลำพูน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์เดินทางเข้ามายื่นความจำนงแล้ว 200 ราย จากทั้งหมด 423 ราย

ล่าสุดนายพลภัทร สีแดง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดลำพูน ได้ชี้แจงต่อสมาชิกสหกรณ์ฯ กลุ่มผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวแบ่งได้เป็นถูกสวมสิทธิ ถูกสวมชื่อนำไปเป็นผู้ขอสินเชื่อ กลุ่มผู้ค้ำประกัน หรือสมาชิกกลุ่มได้รับผลกระทบจากการที่ไม่ได้รับเงินปันผล เป็นต้น

ซึ่งทางสำนักงานอัยการจังหวัดลำพูนจะได้ทำหนังสื่อไปยังสหกรณ์ฯ ให้มีการตรวจสอบการสวมสิทธิสมาชิก หากพบว่ามีการสวมสิทธิกับสมาชิกรายใดให้เร่งปิดบัญชีหนี้ทั้งหมด และให้สหกรณ์กำหนดมาตรการเยียวยาให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ไม่ได้รับเงินปันผล เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สมาชิกสหกรณ์ที่ไม่ได้รับเงินปันผลในปีนี้

ด้าน ร.ต.อ.อังคาร อุปการะ อายุ 64 ปี อดีตข้าราชการตำรวจสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ตนรับราชการและต้องสูญเสียขาไป 1 ข้าง พอเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2562 ก็อาศัยเงินบำนาญเลี้ยงชีพและใช้จ่ายในครอบครัวเนื่องจากไม่สามารถไปทำงานอย่างอื่นได้ กลับถูกซ้ำเติมนำชื่อไปสวมสิทธิกู้เงินอีก

ซึ่งในขณะที่ยังรับราชการได้กู้เงินจากสหกรณ์วงเงิน 1.1 ล้านบาท ต่อมาทราบว่าตนถูกนำชื่อไปสวมสิทธิกู้เงินฉุกเฉิน 1 แสนบาท และเงินกู้โครงการช่วยเหลือโควิดอีก 1 แสนบาท ต้องถูกหักเงินเดือนจ่ายให้สหกรณ์เดือนละ 1.6 หมื่นบาท แทนที่จะได้ใช้ชีวิตช่วงวัยเกษียณอย่างมีความสุขกลับต้องรับภาระจ่ายค่างวดเพิ่มจนเงินแทบไม่พอใช้ในแต่ละเดือน ส่วนเงินปันผลที่จะได้ปีนี้ 5 หมื่นบาทก็ถูกตัดไปอีก จึงอยากจะขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาให้ความช่วยเหลือกับข้าราชการชั้นผู้น้อยด้วย

ด้าน ร.ต.อ.มงคล (นามสมมติ) อายุ 64 ปี อดีตตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีกระแสข่าวการทุจริตสวมสิทธิเงินกู้สหกรณ์ฯ ขึ้น ตนจึงรีบไปตรวจสอบพบว่าถูกสวมสิทธินำชื่อไปกู้เงินสหกรณ์ทั้งหมด 3 สัญญา รวมเป็นเงิน 1.2 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้สวัสดิการฯ 1 ล้านบาท เงินกู้โครงการช่วยเหลือโควิดอีก 1 แสนบาท และเงินกู้ฉุกเฉิน 1 แสนบาท

ซึ่งถึงแม้ว่าตนจะไม่ถูกหักเงินที่ถูกใช้ชื่อสวมสิทธิกู้เงินจำนวนดังกล่าวแต่ตนก็เสียสิทธิในการได้เงินปันผลปีละ 4 หมื่นบาทซึ่งปกติจะถูกหักโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกองทุนสงเคราะห์หลังเสียชีวิตปีละ 2.5 หมื่นบาท นอกจากนี้ หากตนเป็นอะไรไปเงินที่จะได้จากกองทุนสงเคราะห์เสียชีวิตอาจจะถูกหักจากหนี้ 1.2 ล้านบาทที่ถูกสวมสิทธิไปใช้ในการกู้เงินสหกรณ์อีกด้วย


ทั้งนี้ เรื่องราวทุจริตสหกรณ์ตำรวจลำพูน ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ได้ตรวจสอบการกู้เงินสหกรณ์จากแอปพลิเคชัน Smart Member แล้วพบความไม่ชอบมาพากล เนื่องจากนายตำรวจคนดังกล่าวไม่ได้กู้เงินสหกรณ์แต่มีรายการกู้เงินหลายรายการ จึงได้แจ้งความเอาผิดอดีตผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน พร้อมฝ่ายสินเชื่อ และฝ่ายบัญชี

กระทั่งพบว่ามีการร่วมกันปลอมแปลงเอกสารกู้เงินในแบบต่างๆ เช่น กู้สามัญ กู้ฉุกเฉิน เป็นต้น ปลอมแปลงเอกสารลายมือชื่อของข้าราชการตำรวจหลายนาย สวมสิทธิเบิกเงินไปใช้ส่วนตัว บางรายการโอนให้ผู้กู้จริง แต่ส่วนใหญ่โอนเงินเข้าบัญชีอดีตผู้จัดการสหกรณ์และพวก รวมเงิน 208 ล้านบาท มีสมาชิกได้รับความเดือดร้อนเดือดร้อนกันมากกว่า 423 ราย

ต่อมามีการสืบสวน พบมีพยานหลักฐานการกระทำผิดจริง เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้จัดการสหกรณ์-ฝ่ายสินเชื่อ และฝ่ายการเงินของสหกรณ์ฯ ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ตรวจยึดทรัพย์สินเป็นของใช้ เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม และทรัพย์สินอื่นๆ รวมคืนมาได้เพียง 16 ล้านบาท และอยู่ในขั้นตอนขยายผลการตรวจยึดทรัพย์สินอื่นๆ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น