ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดเส้นทางรอดเกษตรกรชาวสวนดั้งเดิมเมืองแปดริ้ว ผู้ปลูกหมาก-มะพร้าวแปลงใหญ่หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไปแต่ทิ้งไว้ด้วยร่องรอยความเสียหายด้านการส่งออก จนต้องแปรรูปหมาก-มะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้ทดแทน
นายเดชเดชา ชุนรัตน์ ในฐานะประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ผู้ปลูกหมากมะพร้าวบางตีนเป็ด วัย 64 ปี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ม.10 ต.บางตีนเป็ด อ.เมืองฉะเชิงเทรา ผู้มีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมของชุมชนให้ยังคงอยู่บอกว่า หลังโควิด-19 คลี่คลายตนได้นำสมาชิกกลุ่มที่มีมากถึง 31 ราย ฟันฝ่าอุปสรรคและวิกฤตการณ์
โดยเฉพาะเรื่องของราคาผลผลิตที่ตกต่ำอย่างหนัก จนทำให้สินค้าที่เคยผลิตเพื่อส่งออกไปขายประเทศอินเดีย พม่า และไต้หวัน ต้องกลายเป็นของไร้ค่า ทั้งที่ก่อนหน้าที่การแพร่ระบาดของโรคร้าย ผลผลิตจากสวนต่างๆ ที่ถูกแปรรูปเป็นหมากตากแห้งสามารถส่งออกขายประเทศอินเดียได้มากถึงปีละหลายร้อยล้านบาท
เช่นเดียวกับผลหมากอ่อน ที่ส่งขายไต้หวัน ได้มากถึงปีละหลายร้อยล้านบาทเช่นกัน
แต่ในวันนี้ผลผลิตราคากลับตกต่ำถึงขีดสุด โดยหมากสดที่เคยส่งออกได้ในราคากิโลกรัมละเกือบ 10 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท ส่วนหมากตากแห้งนั้นไม่มีใครมารับซื้อเลยแม้แต่รายเดียว จนต้องเกิดการร่วมกลุ่มผู้ปลูกกันขึ้นเพื่อแก้ปัญหา
“ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ทดลองนำผลผลิตหมากแห้งมาทำเป็นสีย้อมผ้า เพื่อผลิตเป็นสินค้าผ้ามัดย้อม รวมทั้งเสื้อ หมวกและกระเป๋าถือ และถุงผ้าออกจำหน่าย และยังได้นำกาบหมากที่เคยร่วงหล่นทิ้งตามโคนต้นมาแปรรูปเป็นสินค้าชุมชน เช่น ทำเป็นจานชามกาบหมาก หรือนำมาทำเป็นเครื่องจักสาน ทั้งกระเป๋ากาบหมาก และรองเท้ากาบหมาก ร่วมออกร้านในงานแสดงสินค้าของทางราชการ เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ไปจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี”
ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ผู้ปลูกหมากมะพร้าวบางตีนเป็ด ยังเผยอีกว่า การแปรรูปหมากมะพร้าวให้เป็นสินค้าชุมชนในรูปแบบต่างๆ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานเกษตร อ.เมืองฉะเชิงเทรา ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนารูปแบบสินค้าความยั่งยืน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการจดทะเบียนกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.66 ที่ผ่านมา และขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วจำนวน 31 ราย
“ในการแปรรูปกาบหมากนั้นได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา ที่ให้ยืมเครื่องจักรกล เครื่องปั๊มขึ้นรูปกาบหมากให้เป็นจานชาม ส่วนการทำผ้ามัดย้อม อบต.บางตีนเป็ด ได้ช่วยเหลือในการประสานไปยัง กศน. อ.เมืองฉะเชิงเทรา ในการอบรมให้ความรู้เรื่องการมัดย้อมผ้า และในอนาคต อบต.บางตีนเป็ดยังจะได้จัดหาเงินงบประมาณช่วยจัดซื้อหาเครื่องจักร และเครื่องปั๊มขึ้นรูปกาบหมาก ตลอดจนสร้างโรงเรือนให้เป็นที่ทำการกลุ่มอย่างถาวรอีกด้วย”
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ผู้ปลูกหมากมะพร้าวบางตีนเป็ด ที่มีสมาชิกจำนวน 31 ราย มีเนื้อที่การเพาะปลูกหมากและมะพร้าวรวมกันจำนวน 233 ไร่ มีผลผลิตหมากออกสู่ตลาดประมาณ 100 ตันต่อปี และผลผลิตมะพร้าว ประมาณ 10 ตันต่อปี ซึ่งเมื่อเกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนทำให้มีอำนาจต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาดได้มากขึ้น
และยังได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรอำเภอในการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสภาพดิน รวมทั้งแนะนำการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับดินในแต่ละแปลงเพื่อลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ย ตลอดจนการเข้ามาส่งเสริมอบรมการทำปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพสำหรับใช้กันเองภายในสวน
ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมืองฉะเชิงเทา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอนเกี่ยวการทำสีจากแกนเมล็ดหมากแห้ง เพื่อให้ได้สีตรงตามต้องการของตลาด รวมทั้งสวยวิธีการทำเพื่อให้สีฝังจับติดแน่นอยู่ในเนื้อผ้าได้อย่างคงทนถาวร หรือติดอยู่กับวัตถุได้นานจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปแนวใหม่ที่ดูแปลกตาจนได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อเป็นอย่างดี
“แต่ปัญหาของเกษตรกรยังอยู่ที่เรื่องของการตลาด เพราะเกษตรกรยังไม่มีความชำนาญและความคุ้นเคยในการแสวงหากลุ่มลูกค้ารายใหม่ จึงทำให้ปัจจุบันสินค้าจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ดังนั้น ในปี 2567 จึงมีเป้าหมายการศึกษารูปแบบการทำตลาดแบบออนไลน์ เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าได้ทั่วถึงมากขึ้น”
ขณะที่สถานการณ์ของเกษตรกรผู้ปลูกหมากและมะพร้าวในภาพรวมของ จ.ฉะเชิงเทรานั้น พบว่า ยังมีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพชาวสวนหมากและมะพร้าวอยู่อีกประมาณ 684 รายที่กระจายกันอยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.คลองเขื่อน บางคล้า และ อ.เมืองฉะเชิงเทรา และมีเนื้อที่ปลูกรวมกันอีกประมาณ 4,741 ไร่ มีผลผลิตออกมามากถึง 3,195 ตันต่อปี คิดเป็นรายได้กว่า 220 ล้านบาท
โดยประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ผู้ปลูกหมากมะพร้าวบางตีนเป็ด ได้ตั้งความหวังว่าในอนาคตว่าจะต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร เช่นเดียวกับกลุ่มแปลงใหญ่บางตีนเป็ด เพื่อแก้ไขปัญหาด้านราคาผลผลิตที่ตกต่ำ และรักษาไว้ซึ่งอาชีพดั้งเดิมของชาว จ.ฉะเชิงเทราต่อไป