กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เดินหน้ายกระดับผ้าไทยและงานหัตถกรรม
เปิดตัวหนังสือ 4 เล่ม ตามแนวพระดำริ "เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ"
หนังสือสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย,
หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล, หนังสือลายดอกรักราชกัญญา
ส่งต่อความรู้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณภาพชีวิต อย่างยั่งยืน
จากพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สู่พันธกิจของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพและยกระดับผลงานหัตถกรรมไทย และสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งมีโครงการย่อยๆ มากมาย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าตลอดการดำเนินงานกว่า 3 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงงานและทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน ทรงสร้าง แรงบันดาลใจ แบ่งปันองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่วนพระองค์ พระราชทานแนวพระดำริ ในการพัฒนาผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ ให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ให้แก่ช่างทอ ช่างหัตถศิลป์ และผู้ประกอบการ รวมถึงทรงพัฒนาออกแบบลายผ้าพระราชทาน และพระราชทานลายผ้านี้ให้แก่ช่างทอผ้าทุกภูมิภาค เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผืนผ้าตามอัตลักษณ์
ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ เทิดทูนในพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงได้จัดทำหนังสือ หนังสือสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล, หนังสือลายดอกรัก ราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา และเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ และ พระกรณียกิจ ด้านการพัฒนาแฟชั่นให้ยั่งยืน (Fashion Sustainability) โดยจัดงานเปิดตัวหนังสือทั้ง 4 เล่ม ในงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Silk Success Sustainability ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2566
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตลอดระยะกว่า 3 ปี ของการดำเนินโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำพระดำริแนวคิดมาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย มาปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการมากมาย อาทิ ดอนกอยโมเดล นาหว้าโมเดล บาติกโมเดล Young OTOP รวมถึง การพัฒนาโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และล่าสุดพระองค์ท่านพระราชทาน เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยเดินหน้าโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม สู่ Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้จัดทำหนังสือที่รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อช่างทอ ช่างหัตถกรรม และผู้ประกอบการ ได้นำความรู้นี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาแล้วหลากเล่ม อาทิ หนังสือ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา, หนังสือดอนกอยสกลแฟชั่น คอลเลคชั่น, หนังสือดอนกอยโมเดลสู่ตลาดสากล, หนังสือสีสร้างสรรค์, หนังสือผ้าลายขิด, หนังสือ Young Premium OTOP, Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022, Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022-2023, Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023, Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2023-2024 เป็นต้น เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำหนังสือ 4 เล่ม ทั้งแบบรูปเล่ม และ ฉบับดิจิทัล เพื่อให้ประชาชน ช่างทอ ช่างหัตถกรรม ผู้ประกอบการ นิสิตนักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ ได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดในอนาคต
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า จากวันแรกที่สมาคมแม่บ้านมหาดไทยน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ขับเคลื่อนผ่านประธานแม่บ้านมหาดไทย 76 จังหวัด โดยพระองค์ท่านพระราชทานพระดำริแนวทางการพัฒนาผ้าไทยและงานหัตถกรรมไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทรงนำเอาวิชาการสมัยใหม่ที่เป็นความชำนาญพิเศษของพระองค์ในเรื่องของการออกแบบ แพคเกจจิ้งการทำแบรนด์ดิ้ง มาช่วยยกระดับคุณค่า มูลค่าของผ้า จนวันนี้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากเดิมย้อมผ้าด้วยสีเคมี หันมาผลิตผ้าที่ย้อมจากสีธรรมชาติตามเทรนด์ Sustainability รวมถึงส่งต่อสู่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย ต่างมุ่งมั่นในการต่อยอดผ้าไทยสู่ Next Gen. ตามพระดำริ จนทำให้ทุก
วันนี้พี่น้องสมาชิกทอผ้ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาทิ กลุ่มบ้านดอนกอย สามารถสร้างรายได้ให้กับ คนในชุมชนจากเดิม 700 บาท/คน/เดือน เพิ่มเป็น 15,000 - 20,000 บาท/คน/เดือน เป็นต้น สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจน การพึ่งพาตนเอง และความยั่งยืน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการ สืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาอันมีค่า ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ ได้ถูกรวบรวมเป็นหนังสือ เป็นแหล่งเรียนรู้อันมีค่ายิ่งต่อคนไทยและชาวโลก
นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เผยว่า การจัดทำหนังสือต่างๆ ซึ่งเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้รับการบูรณาการโดยผู้เชี่ยวชาญและนักออกแบบหลากหลายสาขาตามแนวทางของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เริ่มต้นด้วยองค์ความรู้ของชุมชน บันทึกองค์ความรู้ต้นแบบสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร ฟื้นคืนภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัย เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน โดยล่าสุดได้จัดทำหนังสือ 4 เล่ม ประกอบด้วย
หนังสือสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา สมุดภาพประวัติศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและทรงเยี่ยมราษฎร 4 ภูมิภาค เพื่อพระราชทานขวัญและกำลังใจแก่ช่างทอผ้าทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่พระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทยให้มีความร่วมสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านแนวคิด Sustainable Fashion และผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่ประจักษ์ชัด สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไปจนถึงบทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทย คณะที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” นักออกแบบ ช่างทอผ้า และช่างหัตถกรรม ถึงความประทับใจในพระวิสัยทัศน์ในการสร้างการยอมรับให้แก่ผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นของไทยในโลกยุคใหม่
หนังสือเครื่องสานไทย รวบรวมภูมิปัญญาการจักสานพื้นถิ่น ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรม ผ่านผลงานเครื่องจักสานชิ้นเอกที่มีความร่วมสมัยเป็นสากล ที่เกิดจากการร่วมบูรณาการองค์ความรู้ ระหว่างช่างจักสานจากทุกภูมิภาคของประเทศ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อเผยแพร่คุณค่าทางวัฒนธรรมของเครื่องสานไทย เสริมสร้างและยกระดับศักยภาพช่างจักสานไทยสู่การส่งออกไปต่างประเทศ
หนังสือบาติกโมเดลสู่ตลาดสากล ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันหลากหลายในพื้นที่ภาคใต้ ที่เป็นจุดกำเนิดผ้าบาติกผืนงาม เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างช่างบาติกในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทย นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา สร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์บาติกที่มีเอกลักษณ์และร่วมสมัย เริ่มต้นด้วยการฟื้นฟูภูมิปัญญาการออกแบบลวดลายและเทคนิคพื้นถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดให้มีความร่วมสมัย เสริมด้วยการตลาดยุคใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกชุมชน สร้างโอกาสในการขยายตลาดเชิงพาณิชย์สู่ตลาดสากล
หนังสือลายดอกรักราชกัญญา ถ่ายทอดบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย ตามแนวพระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผ่านหนังสือผ้าลายดอกรักราชกัญญา ภายใต้โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม เพื่อยกระดับและศักยภาพผู้ประกอบการ ช่างทอผ้าและช่างหัตถศิลป์ไทยในทุกภูมิภาคของประเทศ ให้สามารถสร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างผู้ประกอบการ ช่างทอผ้าและช่างหัตถศิลป์ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผ้าไทย นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา สร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา เกิดเป็นผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ที่งดงามไปด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ถูกฟื้นคืน
สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ ทั้ง 4 เล่ม รวมถึงหนังสือเล่มอื่นๆ ในรูปแบบดิจิทัลได้ที่ https://www.facebook.com/phathaisaihaisanook
p