ชัยนาท - ม.ราชภัฏจันทรเกษม ฟื้นฟูการแสดงเพลงทรงเครื่อง ศิลปะเก่าแก่ชุมชนคุ้งสำเภา ให้ชนรุ่นหลังได้สืบทอด หลังเลือนหายไปนานกว่า 40 ปี
วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมโรงเรียนอุลิตไพบูลย์ชนูปถัมภ์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ร่วมกับชุมชนคุ้งสำเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท จัดการแสดง “เพลงทรงเครื่อง” จากคณะนารีเฉลิมเนตร ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่ของชาวตำบลคุ้งสำเภา ให้ประชาชนและเด็กนักเรียน ได้รับชม เพื่อเป็นการฟื้นฟู เรียนรู้และสืบทอด หลังการแสดงนี้ได้เลือนหายไปจากชุมชนนานกว่า 40 ปี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิตาภา บำรุงศิลป์ ประธานหลักสูตรอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มหาวิทยาราชภัฏจันทรเกษม เปิดเผยว่า การฟื้นทุนวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงเพลงทรงเครื่องในครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงกาวิจัย นวัตกรรมการพัฒนาย่านวัฒนธรรมด้วยทุนวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูคุณค่าวิถีชีวิตสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ชุมชนคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
โดยนักวิจัยได้มีการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อศึกษาค้นหาทุนวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เพื่อพลิกฟื้นวัฒนธรรมให้กลับมามีชีวิต และเกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยพบกลุ่มการแสดงเพลงทรงเครื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในทุนวัฒนธรรมที่มีความสำคัญ และมีการสืบทอดกันมาร่วมกว่าร้อยปี รุ่นสู่รุ่น แต่หยุดการแสดงมากว่า 40 ปี เนื่องจากยังไม่มีการสืบทอดต่อในยุคปัจจุบัน และยังขาดการสร้างความตระหนักต่อคุณค่าของเพลงทรงเครื่อง จึงทำให้เพลงทรงเครื่องที่เคยมีชื่อเสียงในอดีตของชุมชนเลือนหาย และอาจสูญหายในอนาคต
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงสร้างความตระหนัก และสร้างการรับรู้ให้เจ้าของวัฒนธรรมกลับมาเล็งเห็นคุณค่าในศิลปะการแสดงเพลงทรงเครื่องอีกครั้ง โดยการสัมภาษณ์เพื่อถอดบทเรียนที่สามารถสืบทอด และสร้างการเรียนรู้ในกลุ่มเยาวชน และคนภายนอกได้ ประกอบกับการสร้างพลังบวกให้กลุ่มนักแสดงเพลงทรงเครื่องให้สามารถกลับมารวมกลุ่ม และสามารถแสดงในงานเทศกาลต่างๆ ได้ โดยใช้กลับมาใช้ชื่อวงว่า “นารีเฉลิมเนตร” โดยในเร็วๆ นี้ ทางโครงการวิจัยจะมีการจัดเทศกาลประจำถิ่นที่มีการร่วมสนับสนุนโดยคนในพื้นที่ และหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาลตำบลคุ้งสำเภา ที่ว่าการอำเภอมโนรมย์ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น โดยทีมนักวิจัยมีความคาดหวังว่า การฟื้นทุนวัฒนธรรมดังกล่าวจะช่วยต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ เพลงทรงเครื่อง เป็นการแสดงที่เล่นเป็นเรื่องราวเหมือนอย่างละคร ใช้การขับร้องเพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เป็นหลักในการดำเนินเรื่อง ใช้ผู้หญิงล้วนในการแสดง มีการแต่งกายของตัวละครตามเนื้อเรื้อง โดยใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง สำหรับเพลงทรงเครื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอมโนรมย์มีมากว่า 100 ปี โดยคณะนารีเฉลิมเนตร เป็นคณะการแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง โดยผู้นำมาเผยแพร่ครั้งแรก คือ นางถนอม พุ่มรอด ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว นางถนอม เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงและชอบติดตามพ่อแม่ไปเที่ยวงานวัด ชอบชมลิเกและฟังเพลง จึงจดจำและขับร้อง จนได้เกิดเป็นวงทรงเครื่องขึ้น พร้อมกับถ่ายทอดการแสดงให้นางสมาน พุ่มรอด ที่เป็นลูกสาว และทำการแสดงเรื่อยมา จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนแปลง การแสดงเพลงทรงเครื่อได้รับความนิยมน้อยลง คณะนารีเฉลิมเนตรจึงต้องหยุดการแสดงไปกว่า 40 ปี
ปัจจุบันนักแสดงในคณะนารีเฉลิมเนตรต่างมีอายุมากกว่า 60-80 ปี แต่เพื่อให้เพลงทรงเครื่องได้กลับมาคืนชีพ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดต่อไป จึงกลับมารวมตัวกันแสดงให้ได้ชมอีกครั้ง สำหรับการแสดงในครั้งนี้ได้รับความสนใจและสร้างความสนุกสนานให้ผู้ชมเป็นอย่างมาก โดยเป็นการแสดงเพลงทรงเครื่อง เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนสร้อยฟ้าแอบฝาฟัง นำแสดงโดย นางอุษา กวางประเสริฐ อายุ 66 ปี นางสมควร จงรักษ์ศักดิ์ อายุ 78 ปี นางบุญตา เต็มวงศ์เดิม อายุ 66 ปี นางจำรูญ เป้าวิสิทธิ อายุ 68 ปี นางวิไลวรรณ พึ่งประยูร อายุ 66 ปี นางสมคิด ใจอำ อายุ 73 ปี นางสะอื้น บุญอินทร์ อายุ 80 ปี และ น.ส.สมเกียรติ เย็นสำเภา อายุ 64 ปี โดยการแสดงดังกล่าวจะมีขึ้นอีกครั้งในการจัดงานเทศกาลประจำถิ่นของชุมชนคุ้งสำเภา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้