xs
xsm
sm
md
lg

ประธาน กมธ.เกษตรฯ เตรียมเชิญ 3 ผวจ.ภาคตะวันออกให้ข้อมูลแผนบริหารจัดการทุเรียนปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - ประธาน กมธ.การเกษตรฯ เตรียมเชิญ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออก อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าให้ข้อมูลเรื่องแผนรับมือการส่งออกทุเรียนไปจีนในปี 2567 หลังพบปัญหาเดิมๆ เกิดขึ้นทุกปีซ้ำในปีนี้ยังเจอเรื่องการสวมสิทธิเอกสารการส่งออกทั้ง DOA ล้ง และ GAP สวน

เมื่อเวลา16.00 น.วันนี้ (18 ธ.ค.) นายศักดินัย นุ่มหนู ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมร่วมสภาเกษตรกรและสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จ.จันทบุรี ระยอง และตราด เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาผลไม้ ความต้องการและข้อเสนอแนะ เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมาธิการการเกษตรชุดใหญ่ที่จะเดินทางลงพื้นที่ จ.ตราด และจันทบุรี ระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค.2567 เพื่อรับฟังปัญหาโดยตรงจากชาวสวนและส่วนราชการ

นายศักดินัย เผยระหว่างที่กรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ภาคตะวันออก ว่า จะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง เข้าร่วมประชุมเพื่อสอบถามถึงการเตรียมความพร้อมรองรับผลผลิตทุเรียนที่จะออกสู่ตลาดในปี 2567 ว่าแต่ละจังหวัดมีมาตรการอย่างไร ทั้งด้านการควบคุมคุณภาพทุเรียนก่อนส่งออก ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง

รวมทั้งการตรวจสอบของภาครัฐในแต่ละพื้นที่ที่มีปัญหา รวมทั้งความต้องการให้ที่จะให้กรรมาธิการการเกษตรช่วยสนับสนุน


“ส่วนเรื่องการสวมสิทธิเอกสารการส่งออกทั้ง DOA ล้ง และ GAP สวน ที่ขณะนี้พบว่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรายล่าสุดที่เกิดกับผู้ประกอบการล้งใน จ.จันทบุรี และชาวสวน จ.นครศรีธรรมราช เนื่องเอกชนบางแห่งนำทุเรียนส่งไปขายประเทศญี่ปุ่น แต่ปรากฏในภายหลังว่าผลทุเรียนมีการปนเปื้อนสารต้องห้าม เรื่องจึงแดงขึ้นว่ามีการสวมสิทธิทางเอกสารทั้งล้งและสวน ซึ่งในเรื่องนี้จะเชิญอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการเรื่องของการเอาผิดและดำเนินคดีผู้กระทำผิดว่าดำเนินการถึงไหนแล้ว”

นายศักดินัย ยังเผยอีกว่า หลังจากนี้จะต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้ละเลยกับปัญหาการสวมสิทธิ DOA และ GAP เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการส่งออกและอาจสร้างความเสียหายโดยรวมกับประเทศไทยได้มาก

และยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนการปล่อยตู้ขนส่งผลไม้ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจสอบหลายชั้น แต่กลับมีการตรวจพบสารต้องห้ามในทุเรียนที่ส่งจากไทยไปขายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดทราบว่าผู้ประกอบการล้งได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีบริษัทส่งออกที่ลักลอบนำ DOA ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่ล้งดังกล่าวไม่ได้รับแพกทุเรียนให้บริษัทส่งออกในรายดังกล่าวแล้ว


ส่วนกรณีของชาวสวนใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ยืนยันว่ามีการนำใบ GAP จากสวนซึ่งเป็นใบเก่า และ ศวพ.นครศรีธรรมราช ได้เปลี่ยนรูปแบบใบ GAP เป็นของใหม่ตั้งแต่กลางปี 2565 แล้วไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น

นายศักดินัย ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ว่ารัดกุมหรือไม่ และเหตุใดจึงปล่อยให้เอกสารจากต้นทางทั้ง 2 แห่งหลุดออกไปทั้งที่เจ้าของไม่ได้อนุญาต

“เรื่องนี้กรมวิชาการเกษตรต้องทำความจริงให้กระจ่างเพราะใกล้ถึงหน้าทุเรียนภาคตะวันออกแล้ว และหากยังนิ่งเฉยจะทำให้ชาวสวนและผู้ประกอบการทุเรียนในภาคตะวันออกเกิดความกังวลและจะทำให้นักฉวยโอกาสบางคนหากินบนความเดือดร้อนของผู้อื่นเพียงเพราะภาครัฐไม่มีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ชัดเจน” นายศักดินัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น