xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าของล้งเมืองจันท์โวยถูกลอบใช้ DOA ส่งทุเรียนมีสารตกค้างไปขายที่ญี่ปุ่นจนถูกใบแจ้งเตือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี เจ้าของล้งส่งออกเมืองจันท์โวยถูกลอบใช้ DOA ส่งออกทุเรียนมีสารตกค้างไปขายที่ประเทศญี่ปุ่นจนถูกใบแจ้งเตือนจากกรมวิชาการเกษตร ตั้งข้อสงสัยทำได้อย่างไร เบื้องต้นเข้าแจ้งความตำรวจแล้ว

จากกรณีที่ นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนเรื่องการตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานในทุเรียนสดไปบริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด

โดยระบุว่า "กรมวิชาการเกษตร ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่าตรวจพบสาร Procymidone ปริมาณ 0.02 ppm ในทุเรียนสด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยมีโรงคัดบรรจุ บริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด มีเลข DOA ปรากฏในการส่งออก และใช้ใบ GAP ของเกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งพบปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร หรือการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้า จึงแจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น"

วันนี้ (7 ธ.ค.) น.ส.อรไพลิญญ์ ธนดลโอฬาร กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวยืนยันว่า บริษัทของตนไม่ใช่ผู้ส่งออกทุเรียนล็อตดังกล่าวไปประเทศญี่ปุ่น และไม่เคยคัดบรรจุทุเรียนส่งออกให้บริษัทนำเข้าจากญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัทส่งออกจากประเทศไทยจึงตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด DOA ล้งตัวเอง รวมทั้งใบ GAP สวน จึงปรากฏการส่งออกทุเรียนไปที่ประเทศญี่ปุ่น


น.ส.อรไพลิญญ์ ยังระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2566 ได้มีลูกค้าเข้ามาซื้อทุเรียนที่ บริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด (สาขาหลังสวน) จ.ชุมพร จำนวน 500 กิโลกรัม ซึ่งบริษัทไม่ได้รับบรรจุให้เนื่องจากลูกค้าจะนำไปขายเอง กระทั่งมาทราบอีกครั้งว่า มีหนังสือแจ้งเตือนจากกรมวิชาการเกษตร ไปล้งบริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด (สาขาจันทบุรี) จึงเกิดข้อสงสัยว่า สาขาจันทบุรี ไม่ได้เปิดทำการเกี่ยวกับทุเรียนเหตุใดจึงถูกแจ้งเตือน

“ปกติเราต้องออกหนังสือรับรองโรงคัดบรรจุให้บริษัทที่ใช้โรงงานเราผลิตให้ด้วย แต่ไม่ได้ออกให้บริษัทนี้ เรามีล้ง 3 สาขา คือที่ จันทบุรี 2 สาขา และ จ.ชุมพร 1 สาขา จึงทำให้อดคิดไม่ได้ว่ามีการสวม DOA เพื่อการส่งออกหรือไม่ เพราะช่วงเวลาที่ขายทุเรียนเป็นช่วงทุเรียนใต้ออก และเราเปิดล้งที่สาขา จ.ชุมพร แห่งเดียวเท่านั้น แต่กลับมีหนังสือแจ้งเตือนมาที่สาขาจันทบุรี ” เจ้าของล้ง บริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด กล่าว

น.ส.อรไพลิญญ์ ยังเผยอีกว่า ขณะนี้ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้ซื้อและบริษัทที่ปรากฏว่าเป็นผู้ส่งออกและมีการนำ DOA ของล้งไปใช้เพื่อการส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากทำให้เกิดความเสียหายกับทางบริษัท

ด้าน นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เผยว่ากรณีที่เกิดขึ้นบริษัทที่ได้รับความเสียหายสามารถทำเรื่องอุทธรณ์กลับมาที่กรมวิชาการเกษตรได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น