xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ส.เล็ก เมืองจันท์” จี้กรมวิชาการเกษตรอย่าเงียบ หลังพบใบ GAP ชาวสวนถูกสวมสิทธิหลายพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - “ส.ส.เล็ก เมืองจันท์ ” จี้กรมวิชาการเกษตรรื้อขบวนการปลอม-สวมสิทธิใบ GAP ชาวสวนทุเรียน หลังพบชาวสวนทุเรียนหลายพื้นที่เริ่มเจอปัญหาเดียวกัน ด้าน “ชลธี” แฉซ้ำมีขบวนการปลอมลายเซ็น เคยร้องนิติกรกรมฯ ตั้งแต่ 2 ปีก่อน ถึงวันนี้เรื่องเงียบ

จากกรณีที่มีการตรวจพบว่าใบ GAP ของชาวสวนทุเรียนบางแห่งถูกนำไปใช้โดยที่เจ้าของสวนไม่รู้ตัว จนทำให้ผู้ประกอบการล้งไม่สามารถนำทุเรียนที่รอการส่งออกขายไปต่างประเทศ เนื่องจากใบ GAP ไม่ตรงกันกับทุเรียนนั้น

ล่าสุด น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี อดีตโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร เร่งตรวจสอบและหาคำตอบถึงที่มาของปัญหา โดยเฉพาะกรณีจับทุเรียนเถื่อนที่ จ.สระแก้ว พบว่าเป็นการนำใบ GAP ของชาวสวนทุเรียนใน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ มาแอบอ้าง

แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับพบว่าใบ GAP ของชาวสวนทุเรียนใน อ.ขุนหาญ ได้ขายให้ผู้ประกอบการล้งใน จ.จันทบุรี อีกทั้งวันและเวลาที่ขายทุเรียนไม่ตรงกับที่นำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่

“นั่นหมายความว่าใบ GAP ของชาวสวนคนดังกล่าวถูกสวมสิทธิใช่หรือไม่ และกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งหากยังไม่ดำเนินการใดๆ จะทำให้เกษตรกรไม่มั่นใจในการทำงานของภาครัฐ”


น.ส.ญาณธิชา บอกอีกว่า ขณะนี้ตนยังได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการ (ล้ง) ที่ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเดียวกันกับที่
จ.จันทบุรี ที่ไปเปิดล้งส่งออกทุเรียนในพื้นที่ดังกล่าวว่า เริ่มมีชาวสวนและผู้ประกอบการล้งทุเรียนใน จ.ชุมพร ถูกนำใบ GAP ไปใช้ก่อนเช่นกัน


“เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตรวจสอบว่าใครคือขบวนการสวมสิทธิใบ GAP และต้องดำเนินการเอาผิดกับผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดเนื่องจากปัญหานี้เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ปัญหาแต่ยังมีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นในทุกปี จึงตั้งข้อสงสัยว่าคนกลุ่มนี้รู้ช่องทางทำกินจากเอกสารทางราชการใช่หรือไม่”

โดยได้แนะทางออกของปัญหาว่า กรมวิชาการเกษตรควรจัดทำ QR Code ใบ GAP ของชาวสวนให้สามารถเชื่อมต่อไประบบของหน่วยงานราชการเพื่อให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามีการนำใบ GAP ของตนไปใช้โดยที่ผลผลิตยังไม่ได้ตัดหรือไม่

เช่น หากพบว่ามีการคีย์เลขรหัสในใบ GAP ของชาวสวนเข้าระบบหรือนำไปยื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ข้อมูลจะแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรเพื่อให้ยืนยันความถูกต้องได้ทั้ง 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่


ด้าน นายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 6 (สวพ.6) ได้ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่าเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ได้มีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ทำการปลอมลายเซ็นของตนเองบนใบ GAP จำนวนหลายสิบใบเพื่อนำไปขายให้ผู้ประกอบการส่งออกในราคาใบละ 20,000 บาท

และที่ผ่านมา ตนได้รวบรวมหลักฐานส่งให้นิติกร กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทางด้านคดี จึงฝากให้น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น