ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปัญหาลอบสวมใบ GAP และ DOA ส่งทุเรียนมีสารปนเปื้อนขายญี่ปุ่นเริ่มกระทบเกษตรกรในวงกว้าง หลังก่อนหน้าเจ้าของล้งใน จ.จันทบุรี ได้รับความเดือดร้อนจนต้องโพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสงสัยการสวมใบอนุญาตทำได้อย่างไร ล่าสุด พบกษตรกรใน จ.นครศรีธรรมราช ก็โดนด้วย
จากกรณีที่ นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนเรื่องการตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานในทุเรียนสดไปบริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด โดยระบุว่า "กรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่าตรวจพบสาร Procymidone ปริมาณ 0.02 ppm ในทุเรียนสด เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566
โดยมีโรงคัดบรรจุ บริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ซึ่งมีเลข DOA ปรากฏในการส่งออก และใช้ใบ GAP ของเกษตรกรรายหนึ่งซึ่งพบปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร หรือการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้า จึงแจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
จนทำให้ น.ส.อรไพลิญญ์ ธนดลโอฬาร กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย ชิ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวยืนยันว่า บริษัทของตนไม่ใช่ผู้ส่งออกทุเรียนล็อตดังกล่าวไปประเทศญี่ปุ่น และไม่เคยคัดบรรจุทุเรียนส่งออกให้บริษัทนำเข้าจากญี่ปุ่น และยังได้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด DOA ล้งของตน รวมทั้งใบ GAP สวนจึงปรากฏการส่งออกทุเรียนไปที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นที่สวนทุเรียนใน จ.นครศรีธรรมราช ด้วยเช่นกัน หลังปรากฏเอกสารแจ้งชื่อเจ้าของสวนแห่งหนึ่งว่าส่งทุเรียนมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานไปประเทศญีปุ่น ร้อนถึง นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ต้องนำเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด รวมทั้ง นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ
กระทั่งได้รับการยืนยันจากเจ้าของสวนที่มีชื่อปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าสวนของตนเองไม่เคยใช้สาร Procymidone กับสวนทุเรียนตามที่ทางการญี่ปุ่นตรวจพบ
ขณะที่ นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เผยเพิ่มเติมว่า จากการสอบทานเจ้าของสวนดังกล่าว ให้ข้อมูลว่าเคยขายทุเรียนให้ผู้ซื้อเพื่อส่งออกในเดือน ต.ค. และ พ.ย.2566 แต่ในเอกสารที่มีการแจ้งเตือนว่าพบสาร Procymidone แจ้งว่ามีการส่งทุเรียนไปเมื่อเดือน ก.ย.2566
"นั่นหมายความว่า การขายผลทุเรียนและการแจ้งเตือนไม่สัมพันธ์กัน นอกจากนั้น จากการตรวจสอบแบบคำขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ยังพบว่าเป็นเลขเก่าที่ยังไม่มีการอัปเดต ซึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช มีการปรับเปลี่ยนเลข GAP ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565 จึงสรุปได้ว่ามีการสวมผลผลิตและใบ GAP ของเกษตรกรและสวนรายอย่างแน่นอน"
โดยขณะนี้ได้รายงานเรื่องทั้งหมดให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 ทราบแล้วและจะมีการประชุมสรุปอีกครั้ง นอกจากนั้นยังจะได้สอบสวนบริษัทส่งออกที่ปรากฏในเอกสารเพิ่มเติมว่านำผลผลิตจากสวนใดมาสวมใบ GAP และ DOA ของล้งที่ จ.จันทบุรี ด้วยเช่นกัน