เชียงราย - ปศุสัตว์ฯ เดินหน้าทำลายหมูดำเกลี้ยงดอยสะโง้ หลังพบติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ตายเป็นเบือ พร้อมคงคำสั่งห้ามเลี้ยง-เคลื่อนย้ายสัตว์รัศมี 5 กม. ตัดวงจรแพร่ระบาดตามพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา-สปป.ลาว
วันนี้ (1 ต.ค. 66) นายสัตวแพทย์ พืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงลงพื้นที่หมู่บ้านดอยสะโง้ หมู่ 7 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ใกล้กับชายแดนไทย-เมียนมา และไทย-สปป.ลาว หลังมีสุกรของชาวบ้าน 8 ราย เป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตายจำนวน 68 ตัว จนต้องประกาศเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิด ASF และรวบรวมสุกรที่เหลือทั้งหมดมากำจัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มรูปแบบ
นายสัตวแพทย์ พืชผลกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.ที่ทราบเรื่องการระบาด เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าจัดการสถานการณ์ทันที โดยเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านเพื่อรวบรวมข้อมูลเมื่อวันที่ 29 ก.ย. กระทั่งวันที่ 1 ต.ค.นี้ได้มีทำลายสุกรที่เหลือทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพาหะนำโรค
รวมทั้งเพื่อแก้ไขข้อมูลที่กระจายออกไปก่อนหน้านี้ว่ามีสุกรตายแล้วกว่า 100-200 ตัว ทั้งที่ในความเป็นจริงมีสุกรตายเพียง 68 ตัว ส่วนสุกรของเกษตรกร 33 รายที่เหลือ 170 ตัว ก็จะทำลายทั้งหมดในวันนี้ จากนั้นก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านโดยมีคณะกรรมการประเมินราคาเข้าดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ด้านนางหมี่แอ แซ่แจ้ หนึ่งในชาวบ้านดอยสะโง้ กล่าวว่า ตนเลี้ยงสุกรหรือหมูดำเอาไว้ 12 ตัว มีมูลค่าตัวละประมาณ 2,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบให้ตนตัวละ 900 บาท ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะที่ผ่านมายังชีพอยู่ได้ด้วยการเลี้ยงหมู และปัจจุบันทุกตัวก็ยังเลี้ยงอยู่ในคอก ยังไม่ได้ขายออกไปหรือตายแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพบการติดเชื้อ ASF แล้วทางด่านกักกันสัตว์เชียงรายได้ตั้งด่านตรวจป้องกันการขนย้ายหรือลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออก และแจ้งให้หมู่บ้านในรัศมี 1 กิโลเมตรงดเว้นการเลี้ยงสุกรหรือนำสุกรเข้ามาเลี้ยงโดยเด็ดขาดจนกว่าเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์จะประเมินว่าพื้นที่มีความปลอดภัยจากเชื้อ ASF ส่วนพื้นที่ในรัศมีตั้งแต่ 1-5 กิโลเมตร ให้เฝ้าระวังหากพบการตายผิดปกติอีกให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วน และพื้นที่อื่นๆ ในเขต อ.เชียงแสน และอำเภอข้างเคียง ให้เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดแล้ว