ภูมิภาค - บพท.หนุน “นักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.)” จัดสัมมนาวิชาการ “ก้าวสู่ท้องถิ่นที่ชาญฉลาดและน่าอยู่” โชว์ผลงานวิจัยและพัฒนาระบบข้อมูลท้องถิ่น 55 เทศบาลเด่น ยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
วันนี้ (19 ก.ย.) ที่ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. และหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง หรือ พมส. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ “ก้าวสู่ท้องถิ่นที่ชาญฉลาดและน่าอยู่” โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น, ผู้บริหารมหาวิทยาลัย,
เครือข่ายนักวิจัยพัฒนาเมืองจากทั่วทั้งประเทศ เช่น ศ.วุฒิสาร ตันไชย อุปนายกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” บพท., นายจาดุร อภิชาตบุตร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ หน่วย บพท., ดร.อุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งสริมการปกครองท้องถิ่น, รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) และ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบุญธรรม รองผู้อำนวยการหน่วย บพท. ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” บพท. กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำข้อมูลไปใช้พัฒนาในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์และเกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ทั้งนี้ ในอนาคตเตรียมต่อยอดโครงการ โดยจะปรับปรุงรูปแบบเล็กน้อยเพื่อให้ท้องถิ่นที่สนใจได้เข้ามาร่วมโครงการที่ บพท.ได้กำหนดไว้ โดยให้ อปท.ที่รับทุนในปีนี้เป็นต้นแบบของงานวิจัยที่จะขยายไปในพื้นที่ อปท.ต่างๆ ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
จากการดำเนินงานโครงการขณะนี้ผ่านไป 8 เดือนทุกเทศบาลฯมีผลการดำเนินงานที่เด่นชัด และตอบโจทย์การดำเนินงานต่อความต้องการที่จะพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้นั้นต้องเกิดการผลักดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การเป็น Digital Transformation Academy ต่อไป
ด้าน ดร.อุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจาก บพท. โดยมูลนิธิฯ ทำหน้าที่บริหารโครงการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยใช้กลไกความรู้และกลไกความร่วมมือระดับประเทศ สามารถที่จะยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาล, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ผ่านการปฏิบัติการบนฐานงานวิจัย ด้วยการจัดโปรแกรมหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางในการจัดการความรู้จากทั้งความรู้และประสบการณ์ที่อยู่ในผู้คนของเทศบาล, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาเข้าร่วมฝึกอบรมในหลักสูตร และจากนักวิจัยพัฒนาเมือง นักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ภายนอกที่เข้ามาร่วมเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ให้ผู้เข้ามาอบรมในหลักสูตร มีเป้าหมายที่จะยกระดับเทศบาล, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้ไม่น้อยกว่า 300 แห่ง และพัฒนากำลังบุคลากร อปท. นักวิจัยภาครัฐ เอกชนทั่วทั้งประเทศ ให้ได้ไม่น้อยกว่า 2,000 คน
ด้าน รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) บพท. กล่าวว่า ก้าวสู่ท้องถิ่นที่ชาญฉลาดและน่าอยู่ เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานของโครงการที่จะเป็นการประเมินผลการเรียนรู้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่เข้าร่วมในหลักสูตรฯ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมหลักสูตรนักพัฒนาเมือง ระดับสูงสะท้อนผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้จากหลักสูตรทั้งหมด ผ่านนักวิจัยประจำโครงการของแต่ละเทศบาล โดยมีเทศบาลที่ได้รับทุนจาก บพท.ให้ดำเนินการทั้งสิ้น 55 เทศบาลใน 55 โครงการ
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นจะถูกผ่านการนำเสนอในลักษณะนิทรรศการกลุ่มตามประเด็นที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ประกอบด้วยด้านสุขภาพอัจฉริยะ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านภัยพิบัติ การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การพัฒนาเศรษฐกิจบนเศรษฐกิจเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนารายได้และกลไกการเงินใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Digital Transformation เพื่อก้าวสู่ท้องถิ่นที่ชาญฉลาดและน่าอยู่ ซึ่งประกอบด้วย ท้องถิ่นชาญฉลาดด้วยการใช้ข้อมูลเมืองด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ท้องถิ่นชาญฉลาดด้วยการใช้ข้อมูลเมืองด้านสุขภาพ, ท้องถิ่นชาญฉลาดด้วยการใช้ข้อมูลเมืองด้านการจัดการภัยพิบัติ, ท้องถิ่นชาญฉลาดด้วยข้อมูลเมืองด้านสิ่งแวดล้อม และท้องถิ่นชาญฉลาดด้วยการบริการสาธารณะแบบดิจิทัล E-Services ท้องถิ่น อีกด้วย
ขณะที่นายขจรเกียรติ นิพัฒน์โภคัย นายกเทศมนตรีตำบลลำพญา จ.นครปฐม กล่าวว่า การนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินงานของเทศบาลฯ เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งแม้ว่าเทศบาลฯ จะได้รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยหน่วย บพท. เฉพาะในด้านของการใช้ข้อมูลเมืองด้านการจัดการภัยพิบัติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่คณะทำงานทุกฝ่ายเข้าใจ และขยายต่อออกไปครอบคลุมทั้ง 5 แพลตฟอร์มสำคัญ ซึ่ง ต.ลำพญา เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม, น้ำแล้ง, น้ำขึ้น และน้ำลง
ดังนั้น การสื่อสารกับประชาชนในทุกด้านจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ประกอบกับปัจจุบันเทศบาลฯ กำลังถูกเมืองขยายเข้ามาในพื้นที่และเป็นพื้นที่ที่จะสร้างสนามบินในอนาคต ดังนั้น การใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเป็นข้อมูลจึงสำคัญที่สุดและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายที่สุดเพียงแค่ปลายนิ้ว ดังนั้น การที่เทศบาลฯ เข้าร่วมโครงการกับ บพท.ขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานไปอย่างมาก