"หมอประพันธ์" คว้ารางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์ ปลัด สธ.ชูเป็นปูชนียบุคคลด้านสาธารณสุข ผู้บุกเบิกและอุทิศตนทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาเอชไอวี/เอดส์ ตั้งแต่ระบาดแรกๆ ในไทย จนคลี่คลาย ตั้งเป้ายุติเอดส์ให้จบใน 5 ปี
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า มลฑาทิพย์ ฮอลล์ จ.อุดรธานี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการจัดการความรู้และบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” พร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2565 จำนวน 5 คน ได้แก่ 1.ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในประเภทบริหาร 2.นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมสาขาอายุรกรรม สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ในประเภทบริการ 3.ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเภทวิชาการ 4.นายณัฐพล ทองไหล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน ในประเภทผู้นำชุมชน และ 5.นายพนม นามผาญ อสม.ต.แม่กาษา อ.แม่สอด จ.ตาก ในประเภทประชาชน
นอกจากนี้ ยังมอบรางวัลเหรียญเชิดชูเกียรติ “ขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคดีเด่น ได้แก่ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค จากการเป็นผู้อุทิศตนด้านการป้องกันควบคุมโรค สร้างความเข้มแข็งของระบบการสาธารณสุขไทย และผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 มีผู้ได้รับรางวัล 7 คน ได้แก่ 1.นายวัชรินทร์ ทองสีเหลือง ศูนย์แพทย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม รพ.มหาสารคาม เรื่อง การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในจังหวัดมหาสารคาม 2. นพ.อรุณชัย แซ่ฉั่ง รพ.หาดใหญ่ เรื่อง บทบาทของการเสริมธาตุเหล็กทางปากในผู้ป่วยภาวะโลหิตจางภายหลังภายหลังเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นแบบเฉียบพลัน: ผลการทดลองควบคุมแบบสุ่ม 3.นางศิริมา ไชยมูล กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.มหาสารคาม เรื่อง การประยุกต์ใช้ยาเม็ดรับประทานในการพัฒนาสูตรตำรับยาเตรียมเฉพาะคราว ครีมทาช่องคลอดคอนจูเกทเอสโตรเจน
4. นางพันธ์ฉวี สุขบัติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มุกดาหาร เรื่อง ถอดบทเรียนการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในการรับมือโควิด 19 จ.มุกดาหาร กรณี รับส่งแรงงานชาวลาวกลับบ้าน จากสถานการณ์ "ผึ้งแตกรัง" 5.นายธนสิทธิ์ สนั่นเมือง สสจ.อุบลราชธานี เรื่องการพัฒนาระบบรับ – ส่งต่อผู้ป่วย (Smart Refer) เขตสุขภาพที่ 10 6.นายสุรัตน์ คร่ำสุข กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน รพ.มหาราชนครราชสีมา เรื่อง การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บวิกฤตฉุกเฉินในโรงพยาบาล และ 7. นายคัชชรินทร์ โค้วสมจีน รพ.เจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่อง การพัฒนารูปแบบการให้บริการถ่ายภาพรังสีทรวงอกผู้ป่วยโควิด 19
นพ.โอภาสกล่าวว่า ขอยินดีกับผู้รับรางวัลทุกท่าน อย่าง ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ เป็นปูชนียบุคคลด้านสาธารณสุข ทำงานวิชาการขับเคลื่อนแก้ไขโรคเอดส์ให้ไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเอชไอวี ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่ขับเคลื่อนมากว่า 40 ปี จากการผลักดันขับเคลื่อนของ ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์และเครือข่ายทำให้คลี่คลายปัญหานี้อย่างดี เป็นที่ชื่นชมของคนไทยและทั่วโลก ซึ่งท่านได้พูดคุยกับตน อยากให้เรื่องเอดส์จบใน 5 ปี ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาที่มีทั่วประเทศจะช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้สมเจตนารมณ์ โดยการจัดการเรื่องเอดส์ของอาจารย์เป็นตัวอย่างของการทำต่อเนื่องมีการพัฒนาขับเคลื่อนสู่สังคม