สสส. สานพลัง 38 ภาคี เปิดเวทีประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาวะทางปัญญา ดึง นักวิชาการ-นักปฏิบัติ แชร์ประสบการณ์ ‘ปัญญาปฏิบัติ’ สู่การขับเคลื่อนสุขภาวะองค์รวมระดับประเทศ ด้าน ‘หมอประเวศ’ แนะ 15 เส้นทางเข้าถึงแก่นสุขภาวะทางปัญญา
วันนี้( 17 ส.ค. 2566 ) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ประธานที่ปรึกษาการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา : สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม” กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิด หัวข้อ “สุขภาวะทางปัญญา : 15 เส้นทางสู่สุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติ” ว่า สุขภาวะทางปัญญามีลักษณะ 3 ประการ 1. มีความสุขยิ่งกว่าความสุขทางวัตถุใดๆ 2. ประสบความงามจากการเข้าถึงความจริง 3. เกิดไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง มีความรักที่บริสุทธิ์ไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งสามารถเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาได้จาก 15 เส้นทาง 1. ระลึกบรมสัจจะ 2. สัมผัสธรรมชาติ 3. ตถตา 4. เมตตา 5. กรุณา 6. ภาวนา 7. ทำจิตให้บันเทิง-มองในแง่ดี 8. สัมมาวาจา-สื่อสร้างสรรค์ 9. ไม่เบียดเบียน 10. ศิลปะ 11. เคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสติ 12. ทำงานด้วยจิตรู้ 13. ปฏิวัติสัมพันธภาพ รวมตัว ความเป็นชุมชน 14. ชีวันตาภิบาล-การตายดี 15. การเรียนรู้ที่ดี
“คำจำกัดความเรื่องสุขภาพขององค์การอนามัยโลก คือ Health is complete well-being ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา ไม่เพียงแค่การไม่มีโรคเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด การจัดงานประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางปัญญาครั้งแรกของโลก มุ่งเป้าพัฒนาระบบ โครงสร้างสุขภาพ นวัตกรรม เครื่องมือขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาของประเทศให้มีความชัดเจนและเกิดผลเชิงประจักษ์” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพใน 4 มิติ กาย จิต สังคม รวมถึงมิติสุขภาวะทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2546 แต่ยังพบว่าการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญามีข้อจำกัดในด้านความรู้ ความเข้าใจ และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมวงกว้าง สสส. ได้สานพลัง ศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย 35 องค์กร จัดการประชุมฯ ครั้งนี้ เพื่อเป็นก้าวสำคัญของผู้ร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญาของไทย เน้นสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ปฏิบัติการ และการใช้/สร้างความรู้ สนับสนุนคนทำงาน นักวิชาการ นักปฏิบัติ และคนที่สนใจในมิติสุขภาวะทางปัญญาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรง แบ่งปันความรู้ ความเข้าใจ มุ่งเป้าขยายผลการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในระดับชาติ พร้อมขยายเครือข่ายคนทำงานเพื่อส่งเสริมสังคมสุขภาวะทางปัญญาในอนาคต
“งานประชุมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ปัญญาปฏิบัติ’ แบ่งเป็น 5 ประเด็นหลัก 26 ห้องย่อย อาทิ ธนาคารจิตอาสา : สุขภาวะทางปัญญาวัดได้ มหาวิทยาลัยสุขภาวะ : ระบบการศึกษาที่เกื้อหนุนให้คนเต็มคน สุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนชายขอบและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การบูรณาการมิติจิตวิญญาณในระบบบริการสุขภาพ มุ่งสานพลังพัฒนาองค์ความรู้ สังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงระบบ นำไปสู่นโยบายการส่งเสริมสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา ที่ส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาวะองค์รวมของประเทศ โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17–18 ส.ค. 2566 ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน” ดร.สุปรีดา กล่าว
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 กล่าวว่า ความพิเศษของการประชุมฯ ครั้งนี้ คือการสานพลังทั้งระดับปัจเจกและระดับสถาบัน/องค์กร จัดรูปแบบการประชุมวิชาการ ที่นำภาควิชาการและภาคปฏิบัติมาเชื่อมโยงเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่แยกเป็นงานประชุมวิชาการเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการสร้างสังคมสุขภาวะทางปัญญาต้องผ่านการลงมือปฏิบัติ เป็นจุดเริ่มต้นการรวมพลังขับเคลื่อนงานพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา (Spirituality Development) เพื่อสร้างกลไกการจัดการความรู้ แนวคิด หลักการ ทฤษฎี นวัตกรรมเครื่องมือต่างๆ ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผสมผสาน ทั้งความรู้จากการอ่าน ฟัง ปฏิบัติ นำไปสู่นโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของระดับปัจเจก รวมถึงการพัฒนาเชิงระบบต่อไป