พิษณูโลก - ผู้บริหารโรงงานไทยเเอโรว์ เครือ "ยาซากิ" ผู้ผลิตสายไฟรายใหญ่ ระบุค่าแรงขึ้นกระทบแน่ แต่ต้องดำรงธุรกิจให้คงอยู่ ปรับกระบวนการผลิตลดต้นทุน-ทำตลาดหาออเดอร์เพิ่ม ถึงจะดูแลพนักงานให้สมดุลได้
วันนี้ (16 ก.ย. 66) นายพชรเสรฏฐ์ บุญศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายสุริยา เสนานุช ปลัดอาวุโส นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายก อบต.หัวรอ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และพนักงาน เกือบ 700 คน ร่วมเปิดงานฉลองครบรอบ 60 ปี “ไทยยาซากิ” และบริษัทในเครือ คือ บ.ไทยแอโรว์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งปี 2535 ถึงปัจจุบันครบรอบ 31 ปี สร้างเศรษฐกิจในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง มีรายได้ มีงานทำ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นายฉัตรชัย โนวิรัมย์ ผู้จัดการโรงงานบริษัทไทยเเอโรว์ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มยาซากิอยู่ในประเทศไทยมา 60 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2505 มิสเตอร์ ซาดามิ ยาซากิ ผู้ก่อตั้งบริษัท ยาซากิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ขยายธุรกิจไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลือกประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียขยายฐานไปยังต่างประเทศ ก่อตั้งเป็นบริษัทสายไฟฟ้าไทย-ยาซากิ จำกัด มีพนักงานกว่า 60 คน นับแต่นั้นได้มีการขยายการลงทุน จนมีหลายบริษัทในเครือ มีฐานการผลิต 6 แห่ง มีพนักงาน 15,000 คน หากรวมบริษัทลูกถึง 12 บริษัทมีพนักงานถึง 25,000 คน
กระทั่งปัจจุบันสายไฟยาซากิก้าวขึ้นเป็นผู้นำการผลิต และจำหน่ายสายไฟฟ้า สายเคเบิล ทั้งทองแดง และอะลูมิเนียม มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศ มีฐานการผลิตที่ จ.สมุทรปราการใน 3 สาขา คือสาขาพระประแดง หรือ TVE- P, สาขาวัดแค หรือ TYE-w และสาขาสุวรรณภูมิ หรือ TVE S
ส่วนการดำเนินงานของ บริษัทไทยแอโรว์ จำกัด (TAP) คือการนำเส้นลวดทองแดงขนาดใหญ่สู่กระบวนการรีด ลดขนาดตามแบบของลูกค้า ป้อนสู่กระบวนการผลิตส่วนประกอบต่างๆ จนได้เป็นชุดสายไฟในรถยนต์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
ต่อข้อซักถามที่ว่า อนาคตจะขยายโรงงานต่อไปหรือไม่ ผู้จัดการโรงงานฯ ระบุว่า ปัจจุบันรถยนต์กำลังเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้า คนไทยเองก็กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน กำลังคิดว่า จะเปลี่ยนตามหรือไม่ ซึ่งโรงงานไทยแอโรว์ได้ผลิตสายไฟในรถยนต์ ฉะนั้นจะต้องดูแนวโน้มของตลาดว่าจะไปในทิศทางไหน จะดูความต้องการของลูกค้าอีกครั้ง
ส่วนประเด็นที่รัฐบาลเตรียมปรับค่าแรง (มีฝีมือ) สูงขึ้นจะกระทบต่อบริษัทในเครือยาซากิหรือไม่นั้น ผู้จัดการโรงงานฯ ระบุว่า มีผลกระทบแน่ เพราะค่าแรงเมืองไทยสูงขึ้นทุกปี การที่จะดำรงธุรกิจให้คงอยู่ได้ จะต้องหาวิธีปรับปรุงเพื่อลดการผลิต หากลดต้นทุนการผลิตได้ ออเดอร์เข้ามา และสามารถนำเงินมาดูแลพนักงานให้สมดุลได้