xs
xsm
sm
md
lg

คนมีปัญหาเรื่องเท้าน่าลอง..."รองเท้ากะลาเพื่อสุขภาพ" จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ต.ปลายโพงพาง สมุทรสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - รองเท้ากะลาเพื่อสุขภาพ ภูมิปัญญาชาว ต.ปลายโพงพาง สมุทรสงคราม งานศิลปหัตถกรรมที่เกิดขึ้นใน รัชกาลที่ 2 โดยหัตถกรรมที่นำเอาวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

สมุทรสงคราม แม้จะเป็นจังหวัดเล็ก ด้วยมีเนื้อที่เพียง 416,707 ตารางกิโลเมตร แต่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะสวนมะพร้าว และมีการทำน้ำตาลมะพร้าวกันมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีช่างฝีมือหลายแขนง ทั้งงานศิลปหัตถกรรมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และด้วยภูมิปัญญาบวกกับฝีมือของเหล่าช่างหัตถกรรมที่ได้นำเอาวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงรองเท้า
            
แม้จะนานมาแล้วที่รองเท้าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนเรา แต่รองเท้าที่ดีนั้น ใส่แล้วนอกจากจะต้องมีความปลอดภัย เช่นไม่กัดเท้า ใส่แล้วไม่ทำให้เดินลื่นจนหกล้ม ยังส่งผลให้คนใส่มีสุขภาพอนามัยที่ดี ที่สำคัญราคายังถูก และผู้ผลิตพยายามสรรหาวัตถุดิบและรูปแบบที่ทันสมัยให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น “กลุ่มวิสากิจชุมชนผลิตรองเท้าตำบลปลายโพงพาง” อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เดิมนั้นผลิตรองเท้าแตะทั้งของผู้หญิงและผู้ชายจำหน่ายสร้างรายได้ให้กลุ่มเป็นอย่างดี และด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้กลุ่มมีการพัฒนายิ่งขึ้น ต่อมาจึงได้ผลิตรองเท้าที่ทำจากกะลามะพร้าวซึ่งวัตถุดิบหาได้ง่ายในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง


นางจุฬา จันทร์เพ็ง อายุ 63 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตรองเท้าตำบลปลายโพงพาง บอกว่า ด้วยภูมิปัญญาของคนสมัยบรรพบุรุษทำให้ตนทราบว่า "กะลามะพร้าว" สามารถช่วยให้สุขภาพดีขึ้นเมื่อได้สัมผัสกับเนื้อหรือกระดูกของมนุษย์นานๆ เนื่องจากกะลามะพร้าว สามารถช่วยผ่อนคลายเส้น ลดอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ผ่อนคลายจุดต่างๆ เช่น ใต้ฝ่าเท้า ช่วยให้ระบบหมุนเวียนของเลือดดีขึ้นได้ ตนจึงได้หาวิธีนำกะลามะพร้าวมาดัดแปลงโดยเจาะให้เป็นเม็ดเล็กๆลักษณะกลมเรียว แล้วนำมาร้อยคล้ายการร้อยลูกปัดให้เป็นรูปรองเท้า แล้วจึงนำมาแนบกับพื้นรองเท้าที่ทำจากหนังสัตว์ จะเป็นหนังแท้หรือหนังเทียมก็ได้ แล้วเย็บติดกับพื้นรองเท้าและใส่ลวดลายต่างๆ ลงไปเพื่อเพิ่มความสวยงาม เมื่อนำมาสวมใส่วันละ 2-3 ชั่วโมงจะทำให้รู้สึกสบายฝ่าเท้า หายปวดเมื่อยได้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่เริ่มสวมใส่รองเท้ากะลามะพร้าวใหม่ๆ หรือเป็นโรคเบาหวาน นางจุฬา แนะนำว่าควรใส่ถุงเท้า และเดินระยะสั้นๆ ก่อน หากมีอาการเจ็บที่ฝ่าเท้าควรถอดออก หายเจ็บแล้วใส่ใหม่จนเคยชิน ส่วนวิธีการดูแลรักษาเหมือนกับรองเท้าทั่วไป แต่ไม่ควรใส่ลุยน้ำบ่อยๆ เนื่องจากเชือกที่ร้อยกะลาอาจจะขาดได้

นางจุฬา บอกด้วยว่า ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่ารองเท้าที่ทำจากกะลามะพร้าวสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ แต่ความเป็นไทย บวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้ตนเชื่อว่าน่าจะมีส่วนอยู่บ้างเพราะคนสมัยโบราณมักจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วย ที่เรียกกันว่า "หมอชาวบ้าน" จึงไม่แปลกที่รองเท้าที่ทำจากกะลามะพร้าว จึงอาจรักษาฝ่าเท้าและร่างกายมนุษย์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดได้ โดยใช้ใส่เดินในบ้านครั้งละประมาณ 15-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง


สำหรับอุปกรณ์ทำรองเท้าของกลุ่มวิสากิจชุมชนผลิตรองเท้าตำบลปลายโพงพาง นางจุฬา บอกว่ามีเพียงค้อนเหล็ก ค้อนยาง จักรเย็บผ้า คีม กาวยาง แปรงทากาว สิ่วหรือชำสำหรับตอกลาย น้ำยาขัดมัน และที่ขาดไม่ได้คือหนังวัวแท้มีทั้งหนังมัน หนังชามัว รวมทั้งหนังเทียมพีวีซี 

ส่วนขั้นตอนการทำรองเท้าแต่ละคู่ เริ่มจากวาดแบบและขนาดที่ต้องการลงในกระดาษก่อนนำไปทาบบนหนังซึ่งจะมีสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นหนังหน้า และส่วนพื้นรองเท้า จากนั้นตัดตามแบบแล้วนำทั้ง 2 ส่วนทากาวยางติดกับผ้ารองพื้น แล้วเย็บด้วยจักรให้แน่นก่อนจะประกอบติดกับพื้นโฟมหรือพื้นยางเพื่อเพิ่มความสูงและยืดหยุ่นให้รองเท้าตามความต้องการ ซึ่งทุกขั้นตอนใช้แรงงานชาวบ้านทั้งหมด

ปัจจุบัน กลุ่มวิสากิจชุมชนผลิตรองเท้าตำบลปลายโพงพาง นอกจากจะผลิตรองเท้ากะลาเพื่อสุขภาพที่ทำจากมือจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอทอป 5 ดาวแล้ว ยังมี “ไม้คลึง” ใช้นวดตามแขนขาและลำตัวเพื่อคลายเส้นบรรเทาอาการปวดเมื่อย “ลูกปัดกะลา” สำหรับใช้บีบปลดล็อกนิ้วมือ “หมอนกะลารองคอ” และ “เบาะพิงหลังกะลา” ส่วนราคารองเท้ากะลาทั้งหญิงและชาย และผลิตภัณฑ์จากกะลาเพื่อสุขภาพทั้งหมด ราคาต่ำสุดเพียง 100 และสูงสุด 590 บาทเท่านั้น 

ท่านใดสนใจต้องการรองเท้าที่ผลิตขึ้นจากกะลามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกะลาดังกล่าวติดต่อได้ที่นางจุฬา จันทร์เพ็ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตรองเท้าตำบลปลายโพงพาง ทางเข้าวัดประชาโฆสิตาราม ต.ปลายโพงพาง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โทรศัพท์ 09-1409-9088 หรือ 06-4272-9189






กำลังโหลดความคิดเห็น