ฉะเชิงเทรา -เผยสภาพอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา ปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 20% แต่ยังคงทัศนียภาพที่สวยงาม ทำนักท่องเที่ยว-ประชาชนแห่เก็บภาพพื้นที่ก้นอ่างช่วงหยุดยาว หวังมีพายุฝนห่าใหญ่ช่วยเติมน้ำในอ่าง ลดความเดือดร้อนช่วงหน้าแล้ง
วันนี้ (2 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพภายในอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ต้องเผชิญกับสภาพความแห้งแล้งมายาวนานนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมา และแม้ว่าขณะนี้ในพื้นที่จะมีฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ค.แต่ฝนที่ตกยังมีไม่มากพอ และยังไม่มีฝนตกห่าใหญ่ลงมาที่บริเวณด้านบนเหนือสันเขื่อน
จึงทำให้ระดับน้ำภายในอ่างขณะนี้น้ำมีเหลือแค่เพียง 76.55 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 18.23 ของความจุที่ 420 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างจะมีปริมาณน้ำลดลงมากจนทำให้พื้นที่ภายในอ่างเก็บน้ำเปลี่ยนสภาพกลายเป็นทุ่งหญ้าเขียวขจี สลับกับพืชพันธุ์ไม้ล้มลุกนานาชนิด โดยที่พืชบางชนิดยังผลิดอกสีสันสวยงามแต่งแต้มสีสันให้พื้นทรายก้นอ่างเก็บน้ำที่มีสีน้ำตาลเข้ม จนมองดูคล้ายกับหาดทรายสีแดงสลับกับพื้นที่ก้นอ่างที่มีโขดหินน้อยใหญ่โผล่ขึ้นมา ถือเป็นอีกหนึ่งภาพความสวยงามในยามน้ำลด
จนทำให้นักท่องเที่ยวหลายรายที่เข้าไปเยี่ยมชมอ่างเก็บน้ำคลองสียัดในช่วงหยุดยาวหลายวันที่ผ่านมาต้องพากันหยิบโทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูปออกมาเก็บภาพบันทึกความสวยงามอวดโชว์ในออนไลน์
นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรบางรายที่มีที่บ้านพักอาศัยอยู่ใกล้ๆ กับแนวเขตขอบของอ่างเก็บน้ำได้พาสัตว์เลี้ยงลงไปเดินแทะเล็มผืนหญ้าและวัชพืชที่งอกงาม ขณะที่บางรายอาศัยโอกาสงามช่วงน้ำลดเข้ามาทำไร่ปลูกพืชผักเพื่อใช้ประโยชน์จากการสะสมของซากพืชซากสัตว์ตลอดจนแร่ธาตุสารอินทรีย์ต่างๆ ที่ไหลปะปนมากับกระแสน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากจนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรงอกงามโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยปรับสภาพบำรุงดิน
สำหรับฤดูแล้งในปีนี้ถือว่ายาวนานที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้ปริมาณฝนที่ตกลงมาไม่เพียงพอที่จะรวบรวมเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่สำหรับกักเก็บได้
ประกอบกับโครงการชลประทานยังต้องทำการระบายน้ำผ่านประตูเป็นระยะเพื่อรักษาระบบนิเวศภายในลำคลองสียัด และคลองสาขาเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ตอนล่าง รวมทั้งการนำน้ำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการผลิตน้ำประปา จึงทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
จึงได้แต่รอความหวังว่าในช่วงภาวะฝนทิ้งช่วงที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจมีมรสุมหรือพายุฝนเข้ามาช่วยให้อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ได้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้งได้ไม่มากก็น้อย