xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเมืองแปดริ้วเริ่มไถหว่านปลูกพืชเกษตร หลังกรมอุตุฯ คาดปริมาณฝนดีตั้งแต่ 15 ก.ค.นี้เป็นต้นไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา ​- เกษตรกรเมืองแปดริ้วเริ่มลงมือไถหว่านปลูกพืชเกษตรตามฤดูกาลหลังปริมาณฝนในพื้นที่ดีขึ้น ขณะกรมอุตุฯ คาดปริมาณฝนดีตั้งแต่ 15 ก.ค.-ต.ค.นี้ ด้าน ผอ.ชลประทาน เตือนชาวสวนทำเกษตรจากน้ำฝนเป็นหลัก ลดผลกระทบปรากฏการณ์​เอลณีโญ ทำน้ำในอ่างหลักเหลือก้นอ่าง

ภายหลังจากที่เริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มตอนล่างใต้อ่างเก็บน้ำคลองระบมและอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.สนามชัยเขต และ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ในช่วง 1-2 สัปดาห์​ที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างพากันลงมือไถหว่านเพาะปลูกพืชเกษตรตามฤดูกาล

โดยไม่สนคำเตือนและการคาดการณ์จากนักวิชาการ และกรมอุตุนิยมวิทยาที่ว่าประเทศไทยอาจเจอภาวะฝนทิ้งช่วง หรือภาวะฝนตกน้อยซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์​เอลนีโญที่อาจทำให้เกิดภาวะภัยแห้งแล้งจนส่งผลต่อภาคการเกษตรในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

ขณะที่หน่วยงานชลประทานในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้รายงานสถานการณ์น้ำประจำวันจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 2 แห่งว่า มีปริมาณลดน้อยลงจนเหลือเพียงในระดับก้นอ่างโดยที่ไม่มีฝนตกลงมาเติมในพื้นที่ทางตอนบนเหนือสันเขื่อน จึงทำให้การตรวจวัดปริมาณน้ำฝนมีค่าเป็น 0 มม.


โดยที่อ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีความจุสูงสุด 420 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันกลับมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 75.94 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 18.08 ของความจุ และยังคงมีการระบายน้ำลงสู่คลองสียัดในปริมาณ 1.64 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ และสนับสนุนภาคการเกษตรในพื้นที่ทางตอนล่าง

ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองระบม ที่มีความจุสูงสุด 55.5 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณน้ำเหลือเพียง 9.173 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 16.53 ของความจุ และยังคงมีการระบายน้ำลงสู่คลองระบมในปริมาณ 0.089 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศตลอดแนวลำคลอง ลงมาทางตอนล่างเช่นเดียวกัน


ล่าสุด นายธานินทร์ เนื่องทศเทศ ผู้อำนวยการ โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา เผยว่า ที่ผ่านมาทางโครงการได้พยายามประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรและประชาชนให้รับรู้ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อให้เร่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้มากเท่าที่จะมากได้ นอกเหนือจากความพยายามที่จะกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำทั้งหมดให้ได้เป็นหลักแม้ปริมาณฝนที่ตกลงมาจะน้อยมากก็ตาม

โดยเฉพาะเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่จะทำการเพาะปลูกที่จะต้องรอให้ฝนตกอย่างเข้มข้นก่อน เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงภาวะฝนทิ้งช่วง ส่วนพื้นที่ใดที่มีการเพาะปลูกไปแล้วให้เกษตรกร​พยายามดูแลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

"แต่ประเด็นสำคัญคือจะต้องช่วยกันประหยัดแม้ในช่วงนี้จะเป็นช่วงฤดูฝนซึ่งพื้นที่ที่มีฝนตกเกษตรกรควรจะใช้น้ำจากน้ำฝนเป็นหลัก ส่วนชลประทานมีหน้าที่เสริมในการดูแลเมื่อฝนทิ้งช่วง ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 9 จะประสานกับโครงการอ่างเก็บน้ำสียัด เพื่อส่งน้ำลงมาช่วยเหลือในช่วงเวลารอยต่อที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนับจากเดือน มิ.ย.เป็นต้นมา"

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วง แต่ในส่วนของการผลิตประปาในพื้นที่ยังไม่มีผลกระทบ เนื่องจากชลประทานมีหัวสูบจากแหล่งน้ำที่อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำที่มีการส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ตลอดเวลา และได้มีการแยกสัดส่วนน้ำสำหรับผลิตประปา และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างชัดเจน เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค


"อ่างเก็บน้ำโจน 2 และอ่างน้ำโจน 16 รวมถึงอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงนั้น มีความจุเพียง 1.9-4.2 ล้าน ลบ.ม. ไม่สามารถส่งน้ำเข้ามาช่วยเหลือภายนอกพื้นที่ได้ เนื่องจากเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ต้องใช้น้ำเพื่อดูแลพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเกษตรกรที่อยู่ห่างออกไปอาจจะได้รับความเดือดร้อนบ้างจากภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งชลประทานได้พยายามที่จะส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อลงมาช่วยเสริมฝนเท่านั้น"

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ยังฝากเตือนประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ว่า ในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นนี้ขอให้เกษตรกรติดตามข้อมูลข่าวสารจากทั้งทางกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รับรู้ว่าช่วงใดฝนตก หรือสถานการณ์เกี่ยวกับฝนในช่วง 2-3 เดือน หรือ 4-6 เดือนข้างหน้า

โดยขณะนี้มีรายงานว่าฝนจะเริ่มตกเข้มข้นมากขึ้นภายในเดือน ก.ค.นี้ และจากการคาดการณ์​ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ว่านับจากวันที่ 15 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ความเข้มของฝนจะดีขึ้นและจะมีฝนตกถี่ขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ต.ค.66




กำลังโหลดความคิดเห็น