พิษณุโลก - “กานา” ส่งคณะอบรม-ดูงาน “วงษ์พาณิชย์” หลังคัดแยก/รีไซเคิลขยะ สร้างชื่อจนติดทำเนียบสหประชาชาติ หวังนำความรู้ปรับใช้แก้ปัญหาขยะล้นประเทศ
วันนี้ (11 ก.ค.) นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชน ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กับ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป ที่โรงแรมวังจันทน์ริเวอร์วิว จ.พิษณุโลก โดยมีคณะดูงานจากประเทศกานา ที่ลัดฟ้ามาเพื่อศึกษาการคัดแยกขยะชุมชน-ขยะรีไซเคิล ร่วมพิธีด้วย
ดร.ชุติมา ผู้ว่าการ วว.กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง วว.กับบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือเป็นจุดเริ่มต้น ในการประสานความร่วมมือถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และประสบการณ์ด้านการคัดแยก-สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ
ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมและการจัดการน้ำเสีย ของประเทศกานา ได้สืบค้นหาข้อมูลจากสหประชาชาติพบว่าพิษณุโลกมีโรงเรียนสอนวิชา นวัตกรรมขยะวิทยา จึงส่งคณะผู้แทนของรัฐบาลกานากับบริษัท จ๊อดพงษ์กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานการเก็บขยะทั้งกานา และแอฟริกา เดินทางมาศึกษาดูงาน
เพราะทุกวันนี้ ”กานา” ขยะล้นเมือง แม่น้ำลำคลองมีขยะลอยน้ำสูง 2 เมตร จนสามารถเดินข้ามได้ ที่ดินข้างถนนนับพันไร่เต็มไปด้วยกองขยะ กลิ่นควันไฟคละคลุ้ง รัฐบาลกานาจึงสนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาท ให้พาคณะดูงานจากประเทศกานาและกลุ่มบริษัท Jospong Group จำนวน 30 คน เดินทางยาวนานประมาณ 24 ชั่วโมง เปลี่ยนถ่ายเครื่องที่เอธิโอเปีย มาถึงสุวรรณภูมิ และต่อเครื่องมุ่งหน้ามาพิษณุโลกด้วยความตั้งใจมาดูงานเรื่องขยะ เพื่อนำความรู้ไปแก้ปัญหามลพิษที่บ้านเกิด (กานา)
โดยคณะดูงานจากกานาจะเข้ารับการฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร 12 วัน เช่น วิชานวัตกรรมขยะวิทยา หัวข้อ Urban mining business with recycling ที่บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน, การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนจากขยะกับการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
รวมทั้งมีการอบรมใน 6 ขั้นตอนจัดการขยะ 1. ยุทธการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร และวิธีทำธุรกิจเหมืองแร่ในเมืองจากขยะ 2. วิธีวิเคราะห์ วิธีพิสูจน์ ชี้ถึงความแตกต่างระหว่างวัสดุต่างชนิด การคัดแยกอย่างมีประสิทธิภาพ 3. ขั้นตอนการตรวจรับวัตถุดิบ 4. กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้วัตถุดิบ แร่พื้นฐานคุณภาพสูง 5. สถานการณ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม 6. การตลาดรีไซเคิล และการตลาด RDF
ทั้งนี้ “พิษณุโลกโมเดล” ถือเป็นเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ ที่มีการสร้างสังคม BCG การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สามารถใช้ทรัพยากรหมุนเวียนจากขยะ สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย เริ่มจากปี ค.ศ. 2000 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 23 ปี สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และมีวิชานวัตกรรมขยะวิทยา โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากทั้งในและต่างประเทศ กว่า 12,000 คนแล้ว