xs
xsm
sm
md
lg

ส่องความสำเร็จของการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน จ.ชลบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้การสนับสนุน และขับเคลื่อนงานกองทุนหมู่บ้านฯ มาโดยตลอด เนื่องจากเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน รวมถึงการสร้างกิจกรรมในชุมชน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการผลิตสินค้าและบริการในชุมชน ก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ การจัดสวัสดิการ และการแก้ไขปัญหาในหมู่บ้านและชุมชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศให้เกิดความเข้มแข็งบนพื้นฐานของความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ภายใต้แนวคิด BCG Economy Model เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนกลยุทธ์ กองทุนหมู่บ้าน เปิดเผยว่า หนึ่งในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องของการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน นั่นคือ กองทุนหมู่บ้านบ้านห้วยทวน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยเป็นชุมชนในเมืองขนาดใหญ่ที่สามารถบริหารจัดการกองทุนซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลลัพธ์การดำเนินงานเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนด้วยการเปิดโอกาสและสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในชุมชน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ประมง และรับจ้าง การสนับสนุนของกองทุนฯ เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนรวมถึงฐานะทางการเงินของหมู่บ้านดีขึ้นอีกด้วย

นายบรรจบ ทวนดิลก ประธานกองทุนหมู่บ้านบ้านห้วยทวน กล่าวเสริมว่า ชุมชนมีแนวคิดการบริหารและปัจจัยความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านห้วยทวน 3 ดี ความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านห้วยทวนมีปัจจัย "ดี" 3 ด้าน ดังนี้

1. กองทุนดี “กองทุนดีดูจากสินทรัพย์ หนี้สิน ดูเงินฝาก เงินกู้ การชำระคืน กำไร การจัดสรรกำไร เพื่อประโยชน์ต่างๆ” กองทุนบ้านห้วยทวน ดำเนินงานกองทุนเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและชุมชนครอบคลุมทั้งสวัสดิการ สวัสดิภาพ และสาธารณประโยชน์ สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น

2. กรรมการดี คณะกรรมการยึดมั่นในระเบียบกองทุน มีกติกาที่ชัดเจน และให้ความสำคัญต่อแบบคำขอกู้เงิน คือต้องรู้ว่าสมาชิกจะนำเงินไปใช้จ่ายอะไร สำคัญเพียงไหน วงเงินกู้เท่าไหร่ จึงจะเพียงพอต่อการประกอบอาชีพแล้วนำเงินมาชำระคืนกองทุนได้ สำคัญคือคณะกรรมการต้องมีความสามัคคี ซื่อสัตย์ โปร่งใส เสียสละ และมีจิตอาสา มีการแบ่งหน้าที่และรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งเต็มความสามารถ

3. สมาชิกดี สมาชิกกองทุนมีความเข้าใจในระเบียบกองทุนหมู่บ้าน มีวินัยในการส่งคืนเงินกู้ มีวินัยในการออมเงิน ทำให้กองทุนเติบโต มีความมั่นคง น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของชุมชน ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมกิจกรรมกับกองทุนสม่ำเสมอ

ดร.พรสรรค์ โรจนพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนกลยุทธ์ กองทุนหมู่บ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งชุมชนที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่จังหวัดชลบุรี นั่นก็คือ กองทุนหมู่บ้านคลองพลูตาหลวง ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยเริ่มก่อตั้งในปี 2544

ทางด้านเรือตรี เกรียงศักดิ์ กิจจะลักษณะ ประธานกองทุนหมู่บ้าน บ้านคลองพลูตาหลวง เปิดเผยว่า กองทุนหมู่บ้านพลูตาหลวงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากการเกษตร แปลงผักออร์แกนิก ปุ๋ยไส้เดือน โดยเน้นการดำเนินงานตามหลัก ดังนี้

1. ด้านความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
2. ด้านประสิทธิภาพการดำเนินงานตามโครงการ
3. ด้านประสิทธิผลในการดำเนินงาน
4. ด้านการมีส่วนร่วม
5. ด้านการแก้ไขปัญหา
6. ด้านความพึงพอใจ
7. ด้านการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน
8. ด้านการสร้างบทเรียนและถ่ายทอดองค์ความรู้
9. ด้านประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มต่างๆ ในชุมชน

โดยในช่วงกว่า 9 ปีที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านคลองพลูตาหลวง หมู่ 4 ได้เปิดเป็นสถาบันการเงินคลองพลูตาหลวง และในปี 2559 ทางกองทุนหมู่บ้านคลองพลูตาหลวงได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของชุมชนพลูตาหลวง สำหรับสถาบันการเงินชุมชนพลูตาหลวง ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยยึดหลักความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลให้กับสมาชิกทุกคน ด้วยแนวคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของชาวบ้านในชุมชนอย่างยั่งยืน อบายมุข ลดความอยากได้เกินตัว เพื่อให้ครอบครัวมีความสุขอย่างแท้จริง ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 ล้านบาท ด้วยความมั่นใจในความซื่อสัตย์ โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

อีกหนึ่งโครงการต้นแบบที่น่าสนใจ คือ “ศูนย์การเรียนรู้แปลงขยะเป็นพลังงาน” ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานขยะชุมชนที่ทันสมัยในภาคตะวันออกศูนย์การเรียนรู้แปลงขยะเป็นพลังงาน (GPSC Waste to Energy Learning Center) ที่ ตำบลน้ำคอก อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงสร้างความเข้าใจให้แก่ภาคประชาชน ในเรื่องมูลค่าของขยะผ่านการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี

ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะประเภทต่างๆ ด้วยการสื่อสารรูปแบบที่เข้าใจง่าย ผ่านระบบดิจิทัล โดยเป็นสื่อสมัยใหม่ที่สามารถดึงดูด และทำให้เกิดการติดตามกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การรีไซเคิลขยะ การพัฒนาเชื้อเพลิงจาก RDF สู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF

สำหรับศูนย์ดังกล่าวจะมีฐานการเรียนรู้ที่สอดแทรกด้วยเกมจำลองต่างๆ โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ซึ่งมีการออกแบบสถาปัตย์ตัวอาคารที่สวยงาม โดดเด่น โดยตั้งอยู่ร่วมกับอาคารคัดแยกขยะทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถมองเห็นภาพการปฏิบัติงานจริงในศูนย์การคัดแยกขยะ ก่อนนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เข้าใจเรื่องราว และคุณค่าของขยะได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้แปลงขยะเป็นพลังงานยังได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ประกอบด้วย โซน 1 สามารถรับชมหนังแอนิเมชัน ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงที่มา ชนิด และประเภทของขยะต่างๆ ในชุมชน ที่นำมาสู่การบริหารจัดการขยะเพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงหลัก ส่งต่อให้กับโรงไฟฟ้า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนสู่ระบบของประเทศ เป็นการถ่ายทอดภาพรวมของศูนย์บริหารจัดการขยะครบวงจร
โซน 2 อุโมงค์ลำเลียง ซึ่งจะเป็นการจำลองให้ความรู้สึกถึงการลำเลียงขยะประเภทต่างๆ มายังศูนย์คัดแยก เพื่อการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี โดยจัดแสดงผลข้อมูลปริมาณขยะประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงระยะเวลาการย่อยสลายของขยะแต่ละประเภท แสดงให้เห็นถึงเทคนิคที่นำมาใช้ในการจัดการขยะด้วยเครื่องจักรต่างๆ ผ่านจอแสดงผลรูปแบบ Animation สามารถเห็นการทำงานของเครื่องจักรภายในอาคารคัดแยก ในส่วนโซน 3 Trash to treasure ซึ่งจะเป็นการจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของขยะว่าเป็นสมบัติล้ำค่าหากคัดแยกอย่างถูกวิธีจากขยะทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ควบคู่ไปกับการนำเสนอชิ้นส่วนของขยะผ่านรูปแบบ Hologram ให้ดูน่าสนใจและทันสมัย โดยจะเป็นการโชว์ศักยภาพ ภาพรวมขององค์ประกอบทั้งหมด ทั้งเทคโนโลยีเครื่องจักรต่างๆ ภายในอาคารคัดแยกตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งจะทำให้ผู้เยี่ยมชมได้เข้าใจในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะอย่าแท้จริงที่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า โดยเยาวชนจะได้ร่วมเล่นเกมแยกขยะลงถังให้ถูกประเภท ซึ่งนอกจากได้ทดสอบความรู้ยังได้รับความเพลิดเพลินอีกด้วย

โซน 4 จะแสดงถึงกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ต่างๆ ที่ GPSC ดำเนินการ อาทิ โครงการ “Zero Waste Village” ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะของชุมชนบ้านไผ่ ต.หนองตะพาน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

ทั้งนี้ “ศูนย์การเรียนรู้แปลงขยะเป็นพลังงาน” ได้เปิดให้บริการเยี่ยมชมแล้วตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ในทุกวันทำการ แต่ต้องทำการจองล่วงหน้าเพื่อให้ทีมงานได้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับ โดยสามารถรองรับได้ครั้งละ 20-30 คน หรือหากมีผู้เยี่ยมชมมากกว่านั้น จะแบ่งเป็นรอบๆ สลับการเยี่ยมชมกับจุดที่น่าสนใจอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง และล่าสุด GPSC ก็กำลังพัฒนาระบบการเยี่ยมชมรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง หรือ RDF Virtual ที่เผยแพร่ข้อมูลด้านต่างๆ ผ่านการเข้าชมเพียงปลายนิ้วสัมผัส จนทำให้มองเห็นภาพเสมือนเดินไปชมด้วยตาตนเอง เป็นการเปิดประสบการณ์ เสริมสร้างการเรียนรู้แบบใหม่อีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น