“มะม่วงหิมพานต์” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เป็นพืชที่ทนแล้ง ปลูกง่ายในสภาพอากาศชื้นและอบอุ่น น้ำไม่ท่วมขัง โดยจะให้ผลผลิตเพียงปีละครั้งในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ในส่วนของเมล็ดจำหน่ายได้ทั้งเมล็ดดิบทั้งเปลือกหรือผ่านกระบวนการผลิต และแปรรูปทั้งกะเทาะเปลือกหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว โดยสามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่ราคา 20 - 50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพผลผลิตและราคาตลาด
ในขั้นตอนของการผลิตเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบ เพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพนั้น หากเกษตรกรดูแลและจัดการในแปลงปลูกดี ด้วยการใส่ปุ๋ย รดน้ำ ทำการตัดแต่งกิ่งตามระยะเวลาที่กำหนด ควบคู่ไปกับการจัดการในช่วงการเก็บเกี่ยว โดยการคัดแยกคุณภาพ หรือคัดขนาดเป็นเกรดตามที่ผู้รับซื้อกำหนด จะช่วยให้จำหน่ายผลผลิตได้ราคาเพิ่มขึ้น
โดยทั่วไปผู้รับซื้อเมล็ดดิบจะรับซื้อผลผลิตโดยพิจารณาจากคุณภาพของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งเปลือก (เมล็ดดิบ) ได้แก่ 1) เมล็ดที่ตากแล้วและได้ความชื้นตามที่กำหนด 2) จำนวนเมล็ดเมล็ดทั้งเปลือกต่อน้ำหนัก 1 กก. 3) ร้อยละของเมล็ดดีที่กะเทาะได้ และ 4) ร้อยละของเมล็ดเสียหาย(เน่าเสีย,เมล็ดไม่แก่,แมลงเจาะทำลาย)
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของทีม วว. เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงหิมพานต์ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการจัดการแปลงที่ดี ทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้คุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของผู้รับซื้อ อีกทั้งเกษตรกรยังไม่ได้ตระหนักถึงการพัฒนาด้านคุณภาพมากนัก ทำให้ผลผลิตบางส่วนมีการปะปนของเมล็ดที่ไม่ดี เช่น เมล็ดลีบ แบน เน่า เสีย เป็นต้น เมื่อนำไปจำหน่ายต่อผู้รับซื้อจึงไม่นิยมรับซื้อและอาจทำให้ราคาผลผลิตมีการปรับลดลงตามคุณภาพของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์
ดังนั้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นพร้อมแก้ไขปัญหาดังกล่าว วว. จากการสนับสนุนทุนวิจัยโดย หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงได้ดำเนิน โครงการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ธุรกิจมะม่วงหิมพานต์ ณ จังหวัดน่าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์ในอันดับต้นๆ ของประเทศ
ทั้งนี้มะม่วงหิมพานต์ช่วยสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ประกอบการจังหวัดน่าน มีมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาทต่อปี จากการสำรวจข้อมูลโดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า จังหวัดน่านมีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 23,090 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 13,554 ไร่ มีผลผลิตรวม 6,573,690 กก./ปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอนาหมื่น แม่จริม เมืองน่าน และสันติสุข มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,077 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิต ในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ระยะยาว) ให้ผลผลิตเป็นเมล็ดสดไม่กะเทาะเปลือกเฉลี่ย 485 กก./ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 8,107.50 บาท/ไร่ หรือ 16.72 บาท/กก. ราคาที่เกษตรกรขายได้ 36.50 บาท/กก. ด้านการจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จำหน่ายให้แก่พ่อค้าในท้องถิ่นและอีกร้อยละ 10 จำหน่ายตรงให้โรงงานแปรรูปในจังหวัด เพื่อแปรรูปเป็นเมล็ดกะเทาะเปลือกดิบและอบพร้อมรับประทาน
มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงโดยเฉลี่ย 6 เมตร (สามารถสูงได้ถึง 12 เมตร) ลำต้นเนื้อไม้แข็ง มีกิ่งแขนงแตกออกเป็นพุ่มทรงกลมถึงกระจาย เปลือกหนาเรียบมีสีน้ำตาลเทา ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวเรียงเวียน ดอกออกเป็นช่อกระจาย มีสีขาวหรือสีเหลืองนวลและจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ผลคล้ายผลชมพู่หรือลูกแพร์ ที่ปลายผลมีเมล็ด 1 เมล็ดคล้ายรูปไต มะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกอยู่ทั่วโลกมีมากกว่า 400 สายพันธุ์ ในประเทศไทยนิยมปลูกพันธุ์ศรีสะเกษ พันธุ์ศิริชัย และพันธุ์เกาะพยาม
มะม่วงหิมพานต์จะเริ่มให้ผลผลิตปีที่ 3 โดยจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ หลังจากดอกบานประมาณ 2 เดือน ผลจะเริ่มแก่และเก็บเกี่ยวประมาณเดือนเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม โดยจะมีผลผลิตมากที่สุดในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
โครงการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชน เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ธุรกิจมะม่วงหิมพานต์จังหวัดน่าน ดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกร จำนวน 3 หลักสูตร ดังนี้
1. การจัดการคุณภาพมะม่วงหิมพานต์ (การตัดแต่งกิ่ง) ในระยะที่ต้นมะม่วงหิมพานต์มีขนาดเล็กยังไม่ให้ผลผลิต ควรริดกิ่งข้างชิดพื้นดินออก ทำให้ส่วนลำต้นสูงจากพื้น 1-1.20 เมตร หรือมีกิ่งง่ามแรกสูงจากพื้นมากๆ จะได้สภาพต้นที่สมบูรณ์ และให้ผลผลิตดีเมื่อโตขึ้น ด้วยขนาดทรงพุ่มใหญ่ กิ่งภายในระเกะระกะ จำเป็นต้องตัดกิ่งภายในทรงพุ่มอยู่เสมอ นอกจากนี้ทำการเตรียมต้นให้สมบูรณ์ โดยตัดแต่งเพื่อการแตกยอดใหม่ ลำดับแรก ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่ง จนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
มะม่วงหิมพานต์จะออกดอกติดผลที่ปลายยอดของกิ่งนอกทรงพุ่ม ดังนั้นควรตัดกิ่งในทรงพุ่มทั้งหมด และเพื่อป้องกันทรงพุ่มทึบเกินไป ให้ตัดชิดลำกิ่งประธานด้วย นอกจากนี้การตัดยอดกิ่งประธาน ณ ความสูงต้นตามต้องการ ช่วยให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึง ช่วยกำจัดเชื้อราและช่วยควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มได้ด้วย มะม่วงหิมพานต์จะออกดอกหลังจากกระทบหนาวได้ระยะหนึ่ง ดังนั้นควรตัดแต่งกิ่งเพื่อเรียกใบอ่อนในช่วงต้นหน้าฝน แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุง จะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น จากการตัดแต่งกิ่งและดูแลต้นมะม่วงหิมพานต์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ต้นมะม่วงหิมพานต์มีความแข็งแรง สมบูรณ์มากขึ้น
2. การใส่ปุ๋ยและการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตในแปลงมะม่วงหิมพานต์ การเพิ่มผลผลิตมะม่วงหิมพานต์เพื่อให้ติดดอกและมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ควรใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นให้เจริญเติบโตทั้งทางดินและทางใบ โดยใช้ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี หรือใช้ปุ๋ยทางใบโดยการฉีดพ่นด้วยฮอร์โมน ควรใส่ปุ๋ยในอัตราส่วนที่เหมาะสมตามอายุของต้นมะม่วงหิมพานต์ โดยต้นที่เพิ่งเริ่มปลูกช่วงแรกจะใช้ปริมาณปุ๋ยเพื่อการเติบโต เมื่ออายุต้นเพิ่มมากขึ้นจะต้องใช้ปริมาณปุ๋ยเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการบำรุงต้น เพิ่มธาตุอาหาร เพิ่มช่อดอกและบำรุงเมล็ด เพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยถือหลักการว่า หากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 90 เซนติเมตร (3 ฟุต) เหนือพื้นดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร (1 นิ้ว) ให้ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม หากต้นมีขนาดอื่นให้ใส่ปุ๋ยมากหรือน้อยตามสัดส่วน เช่น ต้นเล็กใส่ปุ๋ย 0. 5 กิโลกรัมต่อต้น ต้นใหญ่ใส่ปุ๋ยตั้งแต่ 2.5-5.0 กิโลกรัมต่อต้น และควรแบ่งใส่ปุ๋ยตามปลายทรงพุ่ม 3 ส่วนและที่โคนต้น 1 ส่วน ควรให้ปุ๋ยต้นมะม่วงหิมพานต์ปีละ 2-3 ครั้ง โดยช่วงที่เหมาะสมในการให้ปุ๋ย ได้แก่
ช่วงแรก ต้นฤดูฝนหรือตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้ว
ช่วงที่สอง ในฤดูฝนตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม โดยมีข้อปฏิบัติ คือ ควรกำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ยและดินควรมีความชื้นก่อนการใส่ปุ๋ย นอกจากนี้ไม่ควรใส่ปุ๋ยให้ชิดกับโคนต้น เพราะปุ๋ยจะทำให้เปลือกของลำต้นเน่าและตายได้
ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยสำหรับใช้เอง แม้ว่าปัจจุบันจะมีปุ๋ยสำเร็จรูปวางจำหน่าย แต่จะมีราคาค่อนข้างแพงและในบางช่วงอาจขาดตลาด การผสมปุ๋ยใช้เองจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนลงได้ถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาปุ๋ยปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน มีปุ๋ยใช้ทันเวลา เกษตรกรเกิดความรู้ความชำนาญ สามารถปรับสูตรได้และมีทางเลือกเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้ใช้ปุ๋ยในราคายุติธรรม ในกรณีเกิดการสูญเสีย จะสูญเสียน้อยกว่าเพราะลงทุนถูกกว่า
วิธีการผสมแม่ปุ๋ยใช้เองอย่างง่าย 1) ชั่งน้ำหนักแม่ปุ๋ยตามสัดส่วนน้ำหนักที่ต้องการใช้ในแปลง เช่น หากต้องการผสมปุ๋ยสูตร 13-13-21 น้ำหนักที่ต้องการผสม 50 กก. ให้ใช้แม่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 8.5 กก. ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (18-46-0) 14.5 กก. และโพแทสเซียมคลอไรต์ (0-0-6) 17.5 กก. 2) นำแม่ปุ๋ยที่ชั่งแล้วแต่ละสูตรเทกองรวมกัน 3) ใช้พลั่วผสมแม่ปุ๋ยทั้ง 3 สูตรให้เข้ากันทันที และ 4) นำปุ๋ยที่ผสมเสร็จแล้วแบ่งใส่ถุง เพื่อนำไปใส่ต้นมะม่วงหิมพานต์ตามระยะเวลากำหนด
3 การจัดการคุณภาพมะม่วงหิมพานต์ (ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต) มีความสำคัญเนื่องจากจะช่วยให้ผลผลิตมีการควบคุมคุณภาพ ได้ผลผลิตที่ดีตั้งแต่ต้นทาง ช่วยลดปัญหาเมล็ดเสียหรือไม่ได้คุณภาพ ก่อนส่งมอบหรือจำหน่ายผลผลิตให้ผู้ซื้อต่อไป ในการเก็บมะม่วงหิมพานต์ ควรปล่อยให้ผลแก่และร่วงลงมาจากต้น เมื่อเก็บแล้วให้บิดเมล็ดออกจากผลทันทีเพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลายเมล็ด โดยมีเทคนิคในการบิดเมล็ดผลเทียมออก ด้วยการใช้เชือกไนร่อน พันให้เชือกอยู่ระหว่างผลปลอมกับเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แล้วทำการดึงเชือกที่พันไว้ เทคนิคนี้จะทำการตัดเนื้อกับเมล็ดออก โดยไม่มีเศษเนื้อผลเทียมติดมากับเมล็ด จากนั้นนำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาล้างน้ำทำความสะอาด เพื่อล้างเศษดินหรือสิ่งสกปรกออก แล้วคัดแยกเมล็ดที่เน่าเสีย ไม่ได้คุณภาพออก การคัดเมล็ดเสียทำได้โดยนำเมล็ดไปแช่น้ำ เมล็ดที่มีคุณภาพจะจมน้ำ ส่วนเมล็ดที่ไม่ได้คุณภาพจะลอยน้ำ เมื่อเมล็ดผ่านการทำความสะอาดแล้วนำไปตากแดดเพื่อลดความชื้นอย่างน้อย 2-3 วัน จากนั้นทำการคัดขนาด/คัดเมล็ดที่ไม่ได้คุณภาพแบบง่ายด้วยสายตาหรือใช้เครื่องคัดขนาด ในการเก็บเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ต้องใส่กระสอบที่มีการระบายอากาศได้ดี วางเก็บไว้ในโกดังที่แห้ง สะอาด มีผ้าคลุม เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป
จากการดำเนินโครงการฯ โดย วว. ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงหิมพานต์จำนวน 3 กลุ่มในพื้นที่ อ.ภูเพียง ที่สามารถรวบรวมผลผลิตในพื้นที่เพื่อจำหน่ายร่วมกัน ทำให้เกษตรกรกำหนดราคาขายได้ในระดับหนึ่งและเกิดข้อตกลงภายในกลุ่มเพื่อจัดการผลผลิตให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้รับซื้อ นอกจากนี้ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกร ต.น้ำพาง อ.แม่จริม ซึ่งได้รับองค์ความรู้ในการจัดการคุณภาพเมล็ดมะม่วงหิมพานต์และจะใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปนั้น ปัจจุบันเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในกลุ่มได้นำความรู้ด้านจัดการคุณภาพของเมล็ดดิบก่อนนำมาจำหน่ายที่กลุ่มมาใช้ ทำให้กลุ่มสามารถรับซื้อเมล็ดที่ได้คุณภาพเพิ่มขึ้น และยังช่วยลดปริมาณเมล็ดดิบที่เสียหายก่อนนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป (กะเทาะเปลือก) ได้กว่าร้อยละ 10-15 นอกจากนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังสามารถแก้ไขปัญหาจากความชื้นของเมล็ดดิบที่จัดเก็บไว้ในสต็อกจากบรรจุภัณฑ์ โดยเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับจาก วว. ในการจัดเก็บเมล็ดดิบ ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บเมล็ดดิบใหม่ และเกิดการพัฒนาสถานที่จัดเก็บ ทำให้กลุ่มฯ พัฒนาให้เป็นจุดรับซื้อผลผลิตเมล็ดดิบจากเกษตรกรภายในชุมชนและพื้นที่ข้างเคียงได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และใช้ทรัพยากรในพื้นที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
นับเป็นความภาคภูมิใจของ วว. และ บพท. ที่ได้ร่วมสร้างสรรค์ดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งมี Impact ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และพร้อมจะเป็นโมเดลความสำเร็จสู่การขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของ วว. ในการดำเนินงานโดยใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนและตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนระดับฐานรากในพื้นที่ต่างๆ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นการพัฒนางาน วทน. อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน