xs
xsm
sm
md
lg

"ปลัดจอมแฉ" นำร้องศูนย์ดำรงธรรมตรวจสอบบ้าน 8 หลังรุกที่ดินมูลนิธิฯ ส่อสวมทะเบียนบ้านแถมหน่วยงานใช้งบหลวงพัฒนาที่เอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - “ปลัดจอมแฉ” พร้อมตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิช่วยเหลือการพัฒนาอนามัยและท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ นำหลักฐานยื่นศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ จี้ตรวจสอบทะเบียนราษฎรบ้านพักอาศัย 8 หลังต้องสงสัยว่าอาจจะมีการสวมบ้านเลขที่ แล้วเข้าบุกรุกสร้างบ้านพักอาศัยในที่ดินของมูลนิธิฯ โดยเจ้าของบ้านหนึ่งในจำนวนนี้ถึงขั้นอ้างสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอครอบครองปรปักษ์ ทั้งๆ ที่เป็นที่ดินที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานให้มูลนิธิฯ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนรวมด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกันร้องขอให้ตรวจสอบหน่วยงานที่นำเอางบประมาณรัฐเข้าไปทำโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคให้ทั้งที่เป็นที่ดินเอกชนและถูกบุกรุก


วันนี้ (27 มิ.ย. 66) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ และประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) พานายศรุต กาญจนกามล อายุ 54 ปี ผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิช่วยเหลือการพัฒนาอนามัยและท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ นำหลักฐานเข้ายื่นคำร้องต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบทะเบียนราษฎรของบ้านอยู่อาศัยจำนวน 8 หลังจากทั้งหมดประมาณ 40 หลัง ที่บุกรุกอยู่ในที่ดินกว่า 8 ไร่ของมูลนิธิฯ ในพื้นที่บ้านป่าข่อยเหนือ หมู่ที่ 1 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีการพัฒนาสร้างขึ้นในที่ดินของมูลนิธิฯ เป็นการทำโครงการและใช้งบประมาณของหน่วยงานหรือส่วนราชการใด รวมทั้งดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร เนื่องจากตามหลักแล้วไม่สามารถนำงบประมาณรัฐไปใช้ทำโครงการพัฒนาในที่ดินเอกชนได้ โดยมีนายวีระพงค์ วงศ์แสนศรี นิติกรชำนาญการพิเศษ ประจำศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับหนังสือเพื่อดำเนินการต่อไปตามกระบวนการ

นายบุญญฤทธิ์เปิดเผยว่า การพาผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิช่วยเหลือการพัฒนาอนามัยและท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่เข้ายื่นคำร้องต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ก่อนหน้านี้ทางผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิฯ ได้เข้าร้องขอความช่วยเหลือให้ตรวจสอบเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรของบ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 1 ตำบลสันผีเสื้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในบ้านพักอาศัยที่ก่อสร้างบุกรุกอยู่ในที่ดินของมูลนิธิฯ โดยเจ้าของบ้านเลขที่ดังกล่าวได้อ้างสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินส่วนหนึ่งของมูลนิธิฯ เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา อ้างว่าสร้างบ้านอยู่อาศัยและมีบ้านเลขที่ดังกล่าวอยู่ในที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 อย่างไรก็ตาม มีพยานบุคคลและข้อมูลแย้งว่าที่จริงบ้านเลขที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในที่ดินนี้มาแต่แรก แต่เป็นการเอาบ้านเลขที่ที่เป็นของบ้านอีกหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่บนที่ดินอีกแปลงหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกันและเจ้าของเดิมขายไปแล้วนำมาใช้


ขณะที่เบื้องต้นจากการลงพื้นที่ชี้จุดโดยการนำอดีตผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านดั้งเดิมยืนยันว่าที่ตั้งเดิมของบ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 1 ตำบลสันผีเสื้อ นั้นอยู่บนที่ดินอีกแปลงหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกันห่างจากที่ตั้งที่ดินของมูลนิธิฯ ไปประมาณ 500 เมตร ซึ่งเจ้าของเดิมขายบ้านพร้อมที่ดินไปแล้ว และมีการขอเลขที่บ้านใหม่ แต่ไม่ได้ยกเลิกเลขที่บ้านเดิม ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายแล้วการขอเลขที่บ้านจะต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารสิทธิที่ดิน และบ้านหนึ่งหลังที่อยู่บนที่ดินจะมีเลขที่บ้านเดียวเท่านั้น รวมทั้งไม่สามารถนำไปใช้เป็นเลขที่บ้านหลังอื่นที่อยู่บนที่ดินคนละแปลงได้ และไม่สามารถอ้างเหตุผลได้ด้วยว่ามีการนำเลขที่บ้านไปใช้นานแล้ว เพราะไม่ต่างกับการสวมบัตรประชาชน ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ย่อมไม่ทำให้ผู้ที่สวมบัตรประชาชนกลายเป็นบุคคลตามบัตรประชาชนจริงๆ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบความผิดปกติเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรของบ้านอยู่อาศัยที่มีเลขที่บ้านดังกล่าว ทางมูลนิธิฯ จึงอยากให้มีการตรวจสอบบ้านอยู่อาศัยอีก 7 หลัง รวมเป็นทั้งหมด 8 หลัง ที่มีการอ้างว่าเป็นการย้ายเลขที่บ้านเดิมมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็กันแน่ ซึ่งหากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำใดๆ ที่เป็นความผิดก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ขอให้มีการตรวจสอบด้วยว่า เหตุใดในที่ดินของมูลนิธิฯ จึงมีการใช้งบประมาณรัฐเข้าไปทำโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคทั้งถนน, ไฟฟ้า และน้ำประปาให้บ้านพักอาศัยที่บุกรุกได้ ทั้งๆ ที่เป็นที่ดินเอกชน และทางมูลนิธิฯ ไม่ได้อนุญาตดำเนินการ โดยขอให้ตรวจสอบว่าหน่วยงานราชการใดที่เป็นเจ้าของโครงการและงบประมาณ รวมทั้งมีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร


ส่วนนายศรุต กาญจนกามล อายุ 54 ปี ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิช่วยเหลือการพัฒนาอนามัยและท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แม่ของตัวเองที่ปัจจุบันอายุ 86 ปี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน 8 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี พ.ศ. 2519 และในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานที่ดินดังกล่าว พร้อมเงินอีก 300,000 บาท ให้เพื่อจัดตั้งมูลนิธิฯ และดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ในการนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนรวมในด้านการสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยที่แม่ของตัวเองเป็นกรรมการมูลนิธิฯ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปียังไม่ได้มีการดำเนินการในที่ดินดังกล่าวและปรากฏว่ามีชาวบ้านบุกรุกเข้าไปสร้างที่อยู่อาศัย โดยมีผู้บุกรุก 1 รายที่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอครอบครองปรปักษ์ อ้างว่าสร้างบ้านอยู่อาศัยและมีบ้านเลขที่อยู่ในที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 แต่เท่าที่ตรวจสอบพบข้อมูลยืนยันว่าแท้ที่จริงแล้วบ้านเลขที่ดังกล่าวมีที่ตั้งอยู่ในที่ดินอีกแปลงหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกัน จึงอยากให้มีการตรวจสอบทะเบียนราษฎรของบ้านหลังดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อรักษาสิทธิของมูลนิธิฯ ในการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์สาธารณะและตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ

ด้านนายวีระพงค์ วงศ์แสนศรี นิติกรชำนาญการพิเศษ ประจำศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่ผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิช่วยเหลือการพัฒนาอนามัยและท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐานขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ในเบื้องต้นทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้รับเรื่องไว้แล้ว พร้อมกับเร่งดำเนินการประสานไปส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีการยื่นคำร้อง ซึ่งน่าจะใช้เวลาในการดำเนินการระยะหนึ่ง






กำลังโหลดความคิดเห็น