น่าน - ตามรอยสล่าพื้นบ้าน ฟื้นตำนาน 600 กว่าปี ล่องน้ำน่านย้ายเมือง..แกะสลักลงลวดลายหัวเรือไม้ เติมไอเดีย แต้มสีสัน สร้างอาชีพได้ยั่งยืน ล่าสุด ได้แรงหนุน อพท.เปิดทางร่วมปลุกปั้น “พื้นที่สร้างสรรค์ฯ ยูเนสโก” ผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าฯ สนใจ ดันชื่อดังไกล-ออเดอร์เข้า
“แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง” คำขวัญของเมืองน่าน ท่อนวรรคตอนแรกเป็นการสะท้อนความผูกพันของวิถีชีวิตคนน่านกับสายน้ำน่านที่มีมาอย่างยาวนาน ปรากฏหลักฐานผ่านจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ของ “หนานบัวผัน” ศิลปินชาวไทลื้อ ช่วงสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช และพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ขึ้นปกครองเมืองน่านระหว่าง พ.ศ.2395-2436
ขณะที่ “ฟ้อนล่องน่าน” ถือกำเนิดขึ้นจากการเดินทางล่องเรือไปตามลำน้ำน่าน ในช่วงอพยพผู้คนจากเมืองปัว วรนคร ลงมาสร้างบ้านแปงเมืองที่ “เวียงภูเพียงแช่แห้ง” สมัยพญาการเมือง (ครานเมือง) เมื่อปี พ.ศ.1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมืองและการปกครอง
ซึ่งยุคสมัยล่องแม่น้ำน่านย้ายเมือง เรือเป็นพาหนะสำคัญ และบนเรือนั้นมีงานศิลปะหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตั้งแต่ผ้าซิ่นผ้าทอ เครื่องประดับและของใช้ที่ทำจากเครื่องเงิน อย่างเช่น สลุง หรือขัน งานจักสานที่เป็นเครื่องใช้ไม้สอย ตลอดจนการแสดงศิลปะพื้นบ้านเพื่อสร้างความครึกครื้นสนุกสนานช่วงพักการเดินทาง
นับเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองน่านที่ยาวนานมากกว่า 600 ปี
นายณัฐวีย์ ขัติยศ อายุ 44 ปี หรือช่างอู เป็นช่างแกะสลักหัวเรือไม้บ้านศรีบุญเรือง ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน เล่าว่า เห็นปู่เห็นพ่อเป็นสล่า (ช่าง) แกะสลักไม้หัวเรือ หรือหัวโอ้ เป็นช่างขุดเรือใหญ่ที่มีชื่อเสียงทางอำเภอท่าวังผา จ.น่าน และพ่อเป็นนายท้ายเรือ "ขุนน่าน" ได้ถ้วยรางวัลพระราชทาน 3 ปีซ้อน ครอบครัวก็เป็นช่างทำเรือ นั่นคือความผูกพันกับสายน้ำน่าน ทำให้ซึมซับและชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจ ประกอบกับตัวเองก็เป็นฝีพายเรือ รวมทั้งยังได้เรียนรู้เทคนิคและลวดลายการแกะสลักไม้ การทาสีลงสี ที่เป็นเอกลักษณ์เรือเมืองน่าน
ช่างอูเล่าย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาว่า มีช่วงหนึ่งที่ไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว จนปี 2553 เพื่อนมาชักชวนให้ทำงานหัตถกรรมแกะสลักไม้ เพราะเคยเห็นฝีมือที่ชอบวาดหัวเรือมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยเรียนด้วยกัน แนะนำให้ทำพวงกุญแจ ต่างหู เป็นลายไทย ทำเรือเล็กๆ ทำหัวเรือติดเสาโชว์ ทำเป็นเข็มกลัด และเรือจำลองขนาดเล็ก ก็ได้ลองทำขายเป็นรายได้เสริมในช่วงนั้น
จนปี 2555 ชาวบ้านได้ขอให้ไปเป็นนายท้ายแข่งเรือนัดเปิดสนาม และเกิดอุบัติเหตุตกน้ำ จนมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เกือบเอาชีวิตไม่รอด ต้องรักษาตัวอยู่นาน และทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่บ้าน จึงตัดสินใจทำงานแกะสลักหัวเรือไม้อย่างเต็มกำลังเพื่อให้เป็นอาชีพสร้างรายได้หลัก และได้เริ่มสอนภรรยา คือ นางธัญรัตน์ ขัติยศ หรือพี่จิ๋ว ให้มาช่วยกันทำงานแกะสลักไม้ด้วยกัน โดยแกะสลักไม้เรือจำลองตั้งโชว์หน้าบ้าน แล้วปีนั้นเจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 หรือ อพท.น่าน ติดต่อเข้ามาให้ทำเป็นของที่ระลึก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นช่องทางมากขึ้น
จากนั้นมีโอกาสได้ร่วมงานในกิจกรรมต่างๆ ในงานพื้นที่สร้างสรรค์ ทำให้ได้ออกโชว์งาน และจัดกิจกรรมเวิร์กชอป “แต้มสีหัวเรือจิ๋ว” ให้นักท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงาน พร้อมทั้งได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และความสำคัญของเรือเมืองน่าน ด้วยเรื่องเล่าและเรื่องราวที่สนุกสนานเพลิดเพลิน อีกทั้งยังนำกลับไปเป็นของที่ระลึกและของฝากได้อีกด้วย เป็นกิจกรรมเวิร์กชอปสนุกๆ ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านศรีบุญเรือง
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมโครงการยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชิงสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้เทคนิคเชิงช่าง ได้เห็นไอเดียแปลกใหม่ นำมาพัฒนาและทดลองประยุกต์
จากเรือลวดลายดั้งเดิมที่มีรายละเอียด ก็ออกแบบให้ร่วมสมัยมากขึ้น มีการปรับลดทอนรายละเอียดลง แต่ยังคงเอกลักษณ์ของเรือเมืองน่านหนึ่งเดียวในประเทศไทย คือ หัวโอ้ หรือหัวโขนเรือที่เป็นรูปพญานาค และหางวัลย์ (ส่วนหางเรือ) จะเป็นหางหงส์ และการลงสีหลักๆ 6 สี คือ สีดำ สีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว สีส้ม (หมากสุก) รวมทั้งใช้สีทองเพื่อเพิ่มความโดดเด่น และยกระดับงานแกะสลักด้วยไม้มงคล ได้แก่ ไม้ค้ำ ไม้ขนุน และไม้สักทอง ออกแบบทำเป็นที่เสียบปากกา ของฝากของที่ระลึก
ช่างอู และพี่จิ๋วยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า จากการได้ไปร่วมออกร้านออกบูท ทำให้มีผู้คนสนใจงานแกะสลักหัวเรือมากขึ้น ขณะที่นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้ความสำคัญและสนใจอย่างมากมาเยี่ยมชมบูทอยู่เสมอ และได้สั่งทำแกะสลักเรือไม้จำลองถึง 3 ลำ ขณะที่นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ให้คำแนะนำไอเดียให้ทดลองออกแบบเป็นถ้วยรางวัล โล่รางวัล แท่นรางวัล ประกอบกับงานแกะสลักหัวเรือไม้เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่านด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบทดลองชิ้นงาน
งานแกะสลักหัวเรือ และเรือจำลอง สามารถสร้างเป็นอาชีพและเกิดรายได้ ที่ผ่านมามีลูกค้าจากทั่วประเทศที่สั่งงาน เช่น ที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โรงแรมหลายแห่งสั่งทำเรือไม้แกะสลักนำไปตั้งแสดงโชว์ เมื่อมีคนสนใจทางโรงแรมก็ให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับมา ทำให้ได้งานสั่งเพิ่มขึ้น มีลูกค้าบางรายสั่งทำเพื่อนำไปตั้งโชว์และขายในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งถ้าทำจริงจัง พัฒนาฝีมืออยู่เสมอจะสามารถต่อยอดได้หลายอย่าง
“ตอนนี้มีออเดอร์สั่งทำงานแกะสลักเรือไม้จำลอง 10 กว่าลำ และหัวเรือใหญ่อีก 4-5 หัวเรือ ยืนยันว่างานแกะสลักไม้หัวเรือสามารถทำเป็นอาชีพ รายได้เป็นหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับความประณีต ฝีมือ และไอเดียสร้างสรรค์”
ซึ่งตอนนี้งานแกะสลักหัวเรือที่ทำอยู่มีทั้งการทำแบบดั้งเดิมเพื่อรักษาเอกลักษณ์ ส่วนที่ยกระดับจะเป็นแบบร่วมสมัย สามารถนำไปเป็นของประดับตกแต่งห้องทำงาน หรือเป็นของฝากของที่ระลึกน่ารักๆ กลุ่มลูกค้าก็กว้างขึ้น มีเครือข่ายงานปั้นดินตุ๊กตาตัวเล็กๆ ซึ่งให้ปั้นเป็นฝีพายเรือ ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนแง้น เพื่อจะนำมาประดับลงในเรือจำลองเป็นการเพิ่มมูลค่าชิ้นงานด้วย
ช่างอูย้ำว่า ตั้งใจเป็นช่างแกะสลัก พัฒนางานไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด อยากให้หน่วยงานสนับสนุนให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ พร้อมถ่ายทอดวิชาด้านนี้ และอยากให้เด็กๆ เยาวชนเมืองน่านมาสืบสานภูมิปัญญาความรู้นี้ไว้ไม่ให้สูญหาย เพราะงานแขนงนี้หาคนทำได้ยาก เป็นงานต้องใช้สมาธิและทักษะฝีมือ ที่ผ่านมาก็สอนแบบฟรีให้เด็กๆ ในหมู่บ้าน ใครสนใจอยากเรียน พร้อมถ่ายทอดเพื่ออยากให้งานแกะสลักหัวเรือคงอยู่
“หวังในใจสูงสุดคือให้งานแกะสลักหัวเรือเมืองน่านได้ไปในระดับนานาชาติ”
ทั้งนี้ ผู้สนใจงานแกะสลักเรือไม้ หรือต้องการเรียนรู้ ติดต่อได้ที่ นางธัญรัตน์ ขัติยศ (พี่จิ๋ว) ที่อยู่ 100 หมู่ที่ 5 บ้านศรีบุญเรือง ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน 55000 โทรศัพท์ 09-4734-0894