xs
xsm
sm
md
lg

“น่าน เชียงใหม่ สุโขทัย” ผนึกพลัง พัฒนาปราชญ์ ศิลปิน ครูภูมิปัญญา ต่อยอดทุนวัฒนธรรมสร้างอาชีพ-รายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน - เมืองน่านเชื่อมความร่วมมือเชียงใหม่-สุโขทัย..เดินหน้าพัฒนาศักยภาพปราชญ์ ศิลปิน และครูภูมิปัญญา ยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ สร้างอาชีพและรายได้



ณ ขณะนี้ “น่าน” กำลังนำทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ฐานรากของภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า โดยเฉพาะงานหัตถกรรม และงานช่างฝีมือ ที่ล้วนอยู่ในวิถีชีวิตของคนน่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอมือ งานแกะสลักหัวโอ้ หรือหัวเรือพญานาค งานแกะสลักพระไม้ งานฝีมือเครื่องเงิน รวมไปถึงงานจักสาน ที่มีอยู่ทุกครัวเรือน ขับเคลื่อนสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งภาคเหนือมีจังหวัดเชียงใหม่และสุโขทัยได้เป็นเมืองสร้างสรรค์ในสาขานี้

นายณัฏฐ์กร เงินวงศ์นัย หรืออาจารย์มาร์ช อาจารย์พิเศษวิทยาลัยชุมชนน่าน รวมทั้งเป็นวิทยากรกระบวนการฝึกอบรมงานหัตถกรรม โดยเฉพาะงานจักสานและดอกไม้สด ในฐานะผู้รับผิดชอบ "โครงการพัฒนาศักยภาพปราชญ์ ศิลปิน และครูภูมิปัญญา เพื่อยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมเครือข่ายเชียงใหม่ สุโขทัย น่าน" ที่สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นผู้สนับสนุน บอกเล่าถึงการดำเนินการโครงการนี้

แนวคิดคือ ต้องการให้เกิดเครือข่ายงานหัตถกรรม เกิดการทำงานแลกเปลี่ยนและเติมเต็มองค์ความรู้ พัฒนางานหัตถกรรมที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน สู่การออกแบบ และผสมผสานวัสดุต่างสาขา เช่น งานจักสาน ผสมผสานกับงานดุนทองดอกไม้ไหว งานแกะสลักไม้หัวเรือ กับงานปูนปั้น งานเครื่องเงินกับผ้าทอผ้าปัก เพื่อการฟื้นภูมิความรู้ดั้งเดิมที่เลือนหายไปให้กลับคืนมา และต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์พัฒนาเป็นผลงานร่วมสมัย และชิ้นงานรูปแบบใหม่ โดยใช้การตลาดและความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้


อาจารย์มาร์ชเล่าว่า เป็นความชอบและตั้งใจมาก เพราะเรียนจบด้านวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผ่านมาทำงานออกแบบสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง แรงบันดาลใจในการทำงานโครงการเดินหน้ายกระดับปราชญ์ด้านหัตถศิลป์ ด้วยแนวคิด "ใหม่ก็ได้ เก่าก็บ่ล่ะ (เก่าก็ไม่ทิ้ง)"

คือการต่อเติมไอเดียและความคิดสร้างสรรค์จากฐานภูมิความรู้เดิม และการเชื่อมโยงเครือข่ายงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ระหว่างเชียงใหม่ สุโขทัย และน่าน เป็นการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ ยกระดับงานหัตถกรรมจากฐานเดิม ด้วยการนำวัสดุพื้นถิ่น หรือที่มีรอบตัวหาได้ง่าย ไม่ต้องซื้อมาจากต่างจังหวัด เป็นการลดต้นทุนการผลิต ออกแบบ ทั้งหลักของการใช้สี การวางรูปแบบและการวางองค์ประกอบ นำมาผสมผสานงานหัตถกรรมหลากหลายสาขา เกิดไอเดียใหม่ๆ ที่สำคัญคือใช้การตลาดนำ ทำให้เกิดมูลค่าและความต้องการของกลุ่มลูกค้า

ซึ่งจากการดำเนินโครงการพบว่า กลุ่มปราชญ์เมืองน่านมีการเปิดกว้าง มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนา และแลกเปลี่ยนทักษะงานฝีมือ จนสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบใหม่ๆ ได้ เห็นผลลัพธ์คือ ทำแล้วขายได้จริง มีกลุ่มลูกค้าสั่งออเดอร์ เมื่อชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์สามารถสร้างรายได้ ก็จะทำให้กลุ่มปราชญ์ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม ยิ่งพัฒนาและสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ

และสิ่งที่ควรเดินหน้าต่อ คือการสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน สร้างความเข้าใจร่วมกัน มีพื้นที่งานเวิร์กชอปมากๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน อนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อรับช่วงต่อองค์ความรู้และงานหัตถศิลป์

"การขับเคลื่อนน่านเมืองสร้างสรรค์ มีทั้งความยากและความท้าทาย แต่เห็นถึงความตั้งใจและโอกาสต่อการพัฒนาศักยภาพกลุ่มปราชญ์ภูมิปัญญา และนักออกแบบรุ่นใหม่ งานหัตถกรรมเมืองน่าน มีสไตล์เฉพาะตัว มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ความเป็นน่านชัดเจน ซึ่งควรมีการสร้างสมดุลของเมืองระหว่างการอนุรักษ์กับการต่อยอด ต้องไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน”


อาจารย์มาร์ชย้ำว่า การเปิดพื้นที่ทั้งแบบอนุรักษ์ให้ถึงแก่นแท้ และพื้นที่เพื่อการออกแบบให้ร่วมสมัย ทันสมัย จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่พูดคุยและทำงานร่วมกันให้มาก งานอนุรักษ์ ก็ต้องเห็นถึงการมีอยู่และคงอยู่ไม่เลือนหาย งานต่อยอดก็ต้องไม่ทิ้งรากฐานทุนเดิม ต้องมีพื้นที่สร้างความเข้าใจ การมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองน่านสร้างสรรค์

การส่งต่องานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านให้แก่เยาวชนเมืองน่าน เป็นสิ่งจำเป็นต้องให้เกิดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นบรรจุเข้าไว้ในการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กๆ และเยาวชนได้เรียนรู้และซึมซับ สร้างแรงบันดาลใจและการค้นหาศักยภาพงานด้านหัตถกรรม ส่วนเด็กจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ให้เลือกได้ ถ้าชอบก็ยิ่งต้องสนับสนุน แต่ถ้าไม่ชอบอย่างน้อยก็รับรู้และเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาในงานด้านนี้

ในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษา และผู้พัฒนางานหัตถกรรม ที่มีส่วนขับเคลื่อนเมืองน่าน สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน มองว่า ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้และศูนย์เรียนรู้งานด้านหัตถกรรมด้านต่างๆ โดยมีปราชญ์และครูภูมิปัญญาถ่ายทอด และวิทยาลัยชุมชนน่านได้พัฒนาเป็นหลักสูตร นำไปขยายสู่กลุ่มงานจักสาน ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีประกาศนียบัตรรับรองให้ ซึ่งหากในอนาคตสามารถยกระดับขึ้นเป็นสถาบันในระดับอุดมศึกษา ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาสอน และมีการต่อยอดผู้เรียนในสาขานี้ได้ จะส่งผลดีต่อการพัฒนางานหัตกรรมและศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดน่านอีกมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น