น่าน - เปิดแนวคิดหนุ่มน่านเจ้าของ “ร้านจิบแฟ แช่น้ำ” ศิษย์เก่า ม.ราชภัฏเชียงราย ผู้พลิกดินบ้านเกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ “เซรามิกสตูดิโอ ห้องเรียนธรรมชาติ” สร้างแรงบันดาลใจคนแวะเวียน-เชื่อมโยง 4 แหล่งท่องเที่ยว ดึง CBT น่าน/ Young Smart Farmer สร้างความยั่งยืน
"หัวใจผมพองโตทุกครั้งที่ได้เปิดห้องเรียนธรรมชาติ ครูบาอาจารย์สอนว่า ศิลปะ ทำต้องมีความสุข สนุกทุกครั้งที่สัมผัส" เป็นเหมือนคำขวัญหรือคติประจำใจของ นายภาคิน ขุนนิรงค์ หนุ่มน่านอายุ 44 ปี เจ้าของ “ร้านจิบแฟ แช่น้ำ” และพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะการปั้นดิน "เซรามิกสตูดิโอ ห้องเรียนธรรมชาติ" ที่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนที่แวะเวียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลงมือนวดดินแล้วขึ้นรูปเป็นชิ้นงานเดียวที่มีในโลกด้วยมือคุณเอง
ภาคินเล่าย้อนไปถึงวัยเด็กที่มีความหลงใหลชัดเจนในเรื่องศิลปะ มุ่งทิศทางการศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตด้านเซรามิก จากสถาบันาชภัฏเชียงรายในสมัยนั้น ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่นั่น เป็นช่างเขียนลวดลายเซรามิกโดยตรง
แต่จุดพลิกผันที่ทำให้ลาออกจากงานประจำ คือการกลับมาดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าและมีโรคประจำตัว จึงได้หอบความฝันที่อยากมีกิจการธุรกิจเล็กๆในหมู่บ้านเกิดของตนเอง มาสร้างทุกอย่างด้วยสองมือและเงินทุนที่ไม่ได้มาก แต่มีแรงบันดาลใจและความฝันเป็นไฟเติมพลัง ความชอบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อยากออกแบบชีวิตของตัวเองได้เป็นแรงผลักดัน
เริ่มใช้พื้นที่ซึ่งพ่อแม่ยกให้เป็นมรดกที่บ้านห้วยยื่น ต.บ่อ อ.เมืองน่าน เป็นที่ดินเล็กๆ ด้านหน้าติดถนน ด้านหลังติดริมน้ำ เต็มไปด้วยต้นไม้และความร่มรื่น ช่วงปี 2555 จึงเริ่มเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ใช้ทุกองค์ความรู้ด้านการตลาด ใส่ความเป็นศิลปะเข้าไป สร้างแบรนด์ "จิบแฟ-แช่น้ำ" เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้เพื่อต่อเติมความฝัน
ซึ่งช่วงนั้นจังหวัดน่านยังเพิ่งเริ่มเปิดด้านการท่องเที่ยว สมัยนั้นร้านกาแฟหรือสถานที่ท่องเที่ยวยังน้อย ทำให้การเริ่มต้นที่เป็นร้านกาแฟท่ามกลางธรรมชาติ ถือเป็นร้านแรกๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนของหมู่บ้านห้วยยื่น
และเพราะเรียนด้านเซรามิ จึงเก็บเงินซื้อเตาเผา เพื่อได้ทำงานศิลปะที่ตนรัก จากนั้นได้นำภาชนะเซรามิกมาใช้ในร้าน เสิร์ฟน้ำชาใบหม่อนของชุมชน เสิร์ฟกาแฟน่าน นำน้ำมัลเบอร์รีมิกซ์กับกาแฟ ทำให้ลูกค้านักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดน่านและต่างจังหวัดเริ่มสนใจเซรามิก มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และเริ่มเป็นพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะเซรามิก
ซึ่งเป็นความโชคดีที่ดินของที่ร้านเป็นดินที่มีคุณสมบัตินำมาปั้นงานเซรามิกได้ ไม่ต้องไปหาซื้อดินจากต่างจังหวัด และให้สีชิ้นงานเป็นเอกลักษณ์ มีความทนไฟทนความร้อนสูง จึงได้ใช้ดินจากพื้นที่ในบ้านทำสตูดิโองานเซรามิก
"ชีวิตผมมันไม่ง่าย มันเริ่มต้นจากความไม่มี ตั้งแต่เด็กน้อย จึงมีความฝันอยากได้นั่น อยากเป็นแบบนี้ อยากมีกิจการของตัวเอง อยากเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ อยากเป็นอาร์ติสท์ อยากมีแกลเลอรี และเชื่อว่าการใช้ศิลปะให้เป็นชีวิต ชีวิตคือศิลปะ จะทำให้ตัวเองได้ทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เชื่อว่าเรื่องราวของตัวเองจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆคนได้ โดยเฉพาะคนที่มีความฝันอยากเริ่มต้นธุรกิจแบบบ้านๆ จึงอยากสร้างพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะและการแบ่งปันแลกเปลี่ยนพลังความคิด จินตนาการ และแรงบันดาลใจ ผ่านธรรมชาติและงานเวิร์กชอป ทุกครั้งที่ได้จัดกิจกรรมทำงานศิลปะ คือการเติมพลังไฟให้กับตนเองด้วย"
ปัจจุบันงานศิลปะที่ห้องเรียนธรรมชาติบ้านภาคิน ไม่เพียงแต่งานปั้นดินเซรามิก แต่ยังมีงานเพนต์ผ้าบาติก และการนำกระบอกไม้ไผ่มาใส่ความคิดสร้างสรรค์ เกิดไอเดียงานศิลปะเป็นแก้วน้ำรักษ์โลก เพื่อลดการใช้แก้วพลาสติก มีคณะศึกษาดูงาน คณะคุณครูและอาจารย์ นำเด็กนักเรียน น้องๆ เยาวชน มาเรียนรู้ที่ห้องเรียนธรรมชาติแห่งนี้อยู่ตลอด เป็นพื้นที่สร้างสรรค์เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ นอกห้องเรียนผ่านกระบวนการลงมือปฏิบัติจริง
ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ทักษะความรู้เรื่องงานเซรามิก หรืองานศิลปะอื่นๆ ยังได้เรียนรู้และเพลิดเพลินกับการได้อยู่กับธรรมชาติ เด็กๆ ลงเล่นน้ำที่ลำห้วย เก็บหินสีและใบไม้ต่างๆ มาสร้างสรรค์งานศิลปะ ได้เปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า อยู่กับธรรมชาติและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ได้ลงมือทำงานศิลปะที่จะเป็นงานชิ้นเดียวในโลก เด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ได้มาเรียนรู้ว่า จากดิน พอใส่ศิลปะเข้าไป ก็สามารถกลายเป็นของใช้ ของที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ ของที่ไม่เหมือนใคร มีความสวยงามในแบบที่เราได้ออกแบบ
สำหรับการยกระดับงานเซรามิก งานหัตถกรรม และงานคราฟต์ รวมถึงสร้างพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และท่องเที่ยวโดยชุมชน “ภาคิน” มีแนวคิดในฐานะผู้ประกอบการว่า ต้องสร้างเป็นกิจกรรมและเวิร์กชอป ให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจว่างานเซรามิกมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานหลายปี มีความคลาสสิกน่าสะสม ด้วยกระบวนการผลิตทำให้มีความปลอดภัยด้านสุขภาพเมื่อใช้เป็นภาชนะใส่อาหาร และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างมูลค่างานได้ด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์
ที่ผ่านมา “ภาคิน” เคยร่วมกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ของสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อพท.6 ซึ่งมีเครือข่ายคนทำงานด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน งานแฮนด์เมด งานคราฟต์ ได้นำงานปั้นดินเซรามิกและกระบอกไม้ไผ่แก้วน้ำรักษ์โลกไปร่วมออกบูท จนได้รับความสนใจอย่างมาก และยังเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย
และนอกจากจะยกระดับตัวผลิตภัณฑ์ด้วยศิลปะแล้ว ก็ยังบอกเล่าถึงเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒธรรมและธรรมชาติว่า บ้านห้วยยื่น เริ่มตั้งแต่หอศิลป์ริมน่าน ของอาจารย์วินัย ปราบริปู ศิลปินที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดน่าน มาถึงจิบแฟ-แช่น้ำ พื้นที่สร้างสรรค์งานเซรามิกและศิลปะหลากหลายแขนง จิบชา-ชมไผ่ ของสถานีทดลองพืชสวนน่าน และชิมหม่อน-ชมไหม ของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน
ซึ่งทั้ง 4 แห่งนี้เชื่อมโยงเป็นแหล่งเรียนรู้และเส้นทางท่องเที่ยวสายศิลปะและธรรมชาติได้ โดยจะใช้กลไกในฐานะรองประธานเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT น่าน และ สมาชิกกลุ่ม young smart farmer เพื่อดึงความร่วมมือและสร้างความยั่งยืน
ผู้สนใจกิจกรรมเรียนรู้ที่ห้องเรียนธรรมชาติบ้านภาคิน เลขที่ 165 หมู่ 2 บ้านห้วยยื่น ต.บ่อ อ.เมือง จ.น่าน สามารถติดตามได้ที่แฟนเพจ Ban Phakhin หรือหมายเลขโทรศัพท์ 08-6114-9599