อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ชาวปราจีนบุรี สร้างฟาร์มของตนเองในพื้นที่ 44 ไร่ ในจังหวัดปราจีนบุรี เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็น “ประเภทประกันราคา” กระทั่งปัจจุบันเลี้ยงไก่เนื้อกว่า 2.8 แสนตัว/รุ่น ตามมาตรฐานการส่งออกของบริษัท มีรายได้รุ่นละ 30 ล้านบาท พร้อมขยายฟาร์มต่อเมื่อโอกาสมาถึง เพราะมองว่า “เส้นทางนี้ยังไปต่อได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ธนศักดิ์ ออนกิจ เกษตรกรในระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่งที่รู้จักระบบนี้ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรในประเภทประกันรายได้ของบริษัทซีพีเอฟ ต่อมา ปี 2558 จึงสร้างฟาร์มของตนเองในพื้นที่ 44 ไร่ ในจังหวัดปราจีนบุรีและเข้าสู่ระบบนี้เช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็น “ประเภทประกันราคา” กระทั่งปัจจุบันเขาเลี้ยงไก่เนื้อกว่า 2.8 แสนตัว/รุ่น ตามมาตรฐานการส่งออกของบริษัท มีรายได้รุ่นละ 30 ล้านบาท หรือราว 100 ล้านบาทต่อปี และยังพร้อมขยายฟาร์มต่อเมื่อโอกาสมาถึง เพราะมองว่า “เส้นทางนี้ยังไปต่อได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ธนศักดิ์ เป็นตัวอย่างเกษตรกรที่รู้จักและอยู่ในระบบนี้มายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ทั้งยังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนประเภทสัญญา รอยต่อของการปฏิวัติเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น และยังยืนยันว่าระบบนี้ช่วยลดความเสี่ยงในหลายด้านให้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเครดิตจากบริษัทให้นำลูกไก่และอาหารมูลค่าหลายสิบล้านบาทมาเลี้ยงก่อน โดยที่เกษตรกรไม่ต้องหาเงินไปลงทุนส่วนนี้เอง หรือการขายผลผลิตในราคาที่ตกลงกันล่วงหน้า ลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาผลผลิตเกษตรได้ชัดเจน นอกเหนือไปจากการได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ซึ่งสร้างรายได้อย่างมั่นคง สม่ำเสมอ ที่สำคัญคือการมีเวลาได้อยู่กับครอบครัว
“รูปแบบประกันราคา ทำให้เรามีความเป็นเจ้าของธุรกิจเองถึง 80% รับความเสี่ยงมากกว่าแบบประกันรายได้ ที่เหมือนเรารับฝากเลี้ยงสัตว์เฉยๆ แน่นอนว่ารายได้ที่ได้รับก็มากกว่าด้วย ประเด็นสำคัญในการเข้าสู่ระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่งคือต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วยกันทั้งเกษตรกรและบริษัท เปิดใจให้กว้าง อย่าติดกับดักความเชื่อเดิมๆ มีหลายมุมที่ผมได้ประโยชน์จากการสนับสนุนของบริษัทจนทำให้กิจการฟาร์มก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ เช่น เทคโนโลยีต่างๆ ที่บริษัทมีให้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตจากค่าแรงงานและทำให้เราเหนื่อยน้อยลง รวมไปถึงการทำฟาร์มให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่ส่งผลกระทบ”
ต่อคำถามเกี่ยวกับการส่งต่อมรดกฟาร์มในระบบนี้ให้แก่ทายาท 2 หนุ่มน้อยวัย 5 และ 8 ขวบหรือไม่นั้น เขากล่าวว่า แม้ตนจะสืบทอดอาชีพเกษตรกรจากรุ่นพ่อ มาเป็น Smart Farmer ในวันนี้ แต่ไม่ได้หมายมั่นให้ลูกๆ ต้องสืบทอดอาชีพเกษตรกร โดยตั้งใจส่งเสริมให้ลูกๆ ได้เดินตามฝันของตัวเองก่อน เว้นแต่คนไหนมีความสนใจในอาชีพนี้ก็สามารถส่งต่อให้ได้ เพราะการเลี้ยงไก่เนื้อเป็นอาชีพที่มั่นคงใช้เลี้ยงตัวและครอบครัวได้ทั้งในวันนี้และในอนาคต
นี่เป็นหนึ่งเสียงเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง จากปัจจัยในการที่เลือกคู่สัญญา หรือผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ ในขณะที่ตัวธนศักดิ์ เองก็เป็นเกษตรกรมืออาชีพเช่นกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่อกัน ก็ประสบความสำเร็จไปด้วยกันได้อย่างมั่นคง
สอดคล้องกับที่ ดร.อภิญญา วนเศรษฐ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวไว้ว่า กรณีพิพาทกันระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ มักเกิดขึ้นกับคู่สัญญาที่เป็นเกษตรกรรายย่อย และบริษัทรายเล็กๆ หรือโรงงานขนาดเล็กตามท้องถิ่นในส่วนภูมิภาคที่อาจยังมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานสากล
ถ้าจะกล่าวว่า การเลือกคู่สัญญาในระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ก็เหมือนกับการตัดสินใจเลือก “คู่ชีวิต” ที่นับเป็นปัจจัยสำคัญข้อแรกที่จะชี้วัดความสุข และความสำเร็จของครอบครัวก็คงไม่ผิด
โดย เพ็ญภัสสร์ วิจารณ์ทัศน์