ศูนย์ข่าวศรีราชา - สผ.สั่งเมืองพัทยาทำประชาพิจารณ์ผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้ารางเบารอบ 4 ชี้อาจมีการปรับเสริมรูปแบบเพิ่มเติมหลังโครงการล่าช้าเพราะโควิด เคาะระบบ Monorail มีความเหมาะสมมากสุด
วันนี้ (20 มิ.ย.) นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เป็นประธานการจัดประชาพิจารณ์รับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนเป็นรอบที่ 4 ในโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีตัวแทนจาก 3 บริษัทฯ ที่ปรึกษาโครงการ ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสื่อมวลชนเข้าร่วม
นายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดโครงการ ได้ชี้แจงและบรรยายสรุปว่า โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา เป็นโครงการที่เมืองพัทยามีแนวคิดที่จะการดำเนินงานมานานแล้วจากการเติบโตของเมือง และปัญหาการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งเมืองพัทยา ได้ว่าจ้างทางบริษัทฯที่ปรึกษาเข้าดำเนินการสำรวจ ออกแบบและศึกษาใหม่ ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ยังเป็นการต่อยอดการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงอีกด้วย
และจากประชุมร่วมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ใน 3 ครั้งที่ผ่านมาพบว่า มีความคืบหน้าและได้รับความเห็นชอบกว่า 80% โดยระบุชัดเจนว่ารถไฟฟ้ารางเบา หรือ Monorail เป็นระบบที่ดีและพร้อมที่สุด
“โครงการนี้ได้ผ่านการดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนและส่งไปสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้ล่าช้าและไม่ตรงตามกำหนดเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ สผ. ยังไม่ได้อนุมัติโครงการ และได้ส่งเรื่องกลับมาให้เมืองพัทยาจัดทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง”
นายพงศ์ทวี ผู้จัดโครงการยังเผยอีกว่า หลังประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบคร่อมรางยกระดับ หรือระบบ Monorial ว่ามีความเหมาะสมกับเมืองพัทยามากที่สุด บริษัทฯ จึงได้เร่งออกแบบและวางแผนเส้นทาง สถานีรับส่ง สถานีจอดและศูนย์ซ่อม รวมทั้งเส้นทางการเดินรถไว้ 4 เส้นทางคือ สีเขียว เหลือง ม่วง และสีแดง
โดยเส้นทางแรกสีเขียว จะมีสถานีรับช่วงต่อมาจากสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงบริเวณสถานีรถไฟพัทยา เลาะไปถนนมอเตอร์เวย์ ข้ามถนนสุขุมวิท วิ่งไปตามถนนพัทยาเหนือ เข้าถนนพัทยาเหนือไปถึงวงเวียนปลาโลมา ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนพัทยาสายสองไปจนถึงแยกทัพพระยา มุ่งตรงสู่ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย
และจะเน้นการพิจารณาในเรื่องผลกระทบด้านการเดินทางและทัศนียภาพ รวมถึงการเวนคืนเป็นหลัก เนื่องจากจะมีสถานีจอดจำนวน 13 จุด ห่างกันจุด 700-900 เมตร
ขณะที่แผนการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระหว่างปี 2563-2564 ระยะกลาง ช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2565-2569 ซึ่งจะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีเขียวและเส้นทางสายสีเหลือง ซึ่งเป็นระบบรถไฟรางคู่สายชลบุรี-สัตหีบ
ส่วนช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2570-2574 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วง วิ่งจากเทศบาลเมืองหนองปรือเข้าสู่ถนนพัทยาใต้ มุ่งหน้าสู่สถานีพักรถบริเวณโรงเรียนเมืองพัทยา 8 ที่จะจัดทำเป็น Station หรือจุดเชื่อมโยงระหว่างกัน
ด้านแผนระยะยาว ระหว่างปี 2575-2579 จะพัฒนารถไฟฟ้าสายสีแดง ที่วิ่งจากซอยชัย พฤกษ์ 2 หรือสนามกีฬาภาคตะวันออก เข้าสู่ถนนจอมเทียนสายสอง ถนนพัทยาสาย 2 และวงเวียนปลาโลมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายการประชุมได้มีเสียงของประชาชนบางส่วนที่ตำหนิการทำงานของเมืองพัทยาเนื่องจากไม่รับทราบถึงการจัดทำประชาพิจารณ์ในช่วง 3 ครั้งที่ผ่านมา จึงทำให้หมดโอกาสในการนำเสนอข้อมูลที่จำเป็น เพราะปัจจุบันผลการศึกษาทั้งหมดส่งเข้าสู่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว