เมื่อพูดถึงการทุจริตในรูปแบบของการเก็บส่วยหรือการเรียกรับผลประโยชน์ จากผู้ประกอบการธุรกิจผิดกฎหมายเช่น บ่อนเถื่อน และรถบรรทุก ซึ่งบรรทุกน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะรู้เห็นจนเคยชิน ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ผู้ประกอบการธุรกิจผิดกฎหมายประเภทที่จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นประจำ เป็นรายเดือนหรือรายปี แล้วแต่ตกลงกันมิได้กระทำอย่างลี้ลับหรือซ่อนเร้น ตรงกันข้ามได้ดำเนินการอย่างเปิดเผยชนิดไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งนี้ เนื่องจากว่าผู้ประกอบการได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งมีความรับผิดชอบในการรักษากฎหมาย และปราบปรามผู้กระทำผิดเพื่อแลกกับการไม่ถูกจับกุม และดำเนินคดีแล้ว
2. ประชาชนคนทั่วไปก็ไม่สนใจว่าใครจะทำอะไรผิด ถ้าไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน จึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เติบโต และมีหน้ามีตาอยู่ในสังคม ทั้งได้รับการยอมรับนับถือในฐานะคนมีเงิน และบางคนได้เป็นนายทุนให้พรรคการเมืองบางพรรคด้วยซ้ำ
อันที่จริงผู้ประกอบการธุรกิจผิดกฎหมาย และต้องจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐมิได้มีเพียงผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกเท่านั้น แต่มีอยู่หลากหลายเช่น บ่อนเถื่อน และหวยเถื่อน เป็นต้น
ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับส่วยเพื่อแลกกับการละเว้นไม่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิด จึงมิได้มีแต่ตำรวจเท่านั้น แต่มีอยู่ในทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายเช่น สรรพสามิต และศุลกากร เป็นต้น
แต่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวฉาวโฉ่เหมือนกับการเก็บส่วยรถบรรทุก ทั้งนี้ ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด วิ่งไปบนถนนสาธารณะผู้คนพบเห็นมองด้วยสายตาก็พอจะอนุมานได้ว่าน้ำหนักเกิน และเกิดข้อกังขาว่าผ่านด่านตำรวจทางหลวงมาได้อย่างไร ถ้าไม่มีการจ่ายเงินให้แก่ตำรวจ
2. ผลจากการปล่อยให้รถบรรทุก บรรทุกน้ำหนักเกินเป็นเหตุให้พื้นผิวถนนพังเป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นหลักฐานฟ้องต่อสายตาผู้คนสัญจรไปมา จึงทำให้ทุกคนที่พบเห็นเพ่งเล็งไปที่ผู้รักษากฎหมายว่าปล่อยให้รถบรรทุกทำผิดกฎหมายผ่านไปได้อย่างไร และทุกคนก็จะสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า จ่ายเงินให้แก่ตำรวจ
เมื่อผู้คนส่วนใหญ่รู้ว่ารถบรรทุกทำผิดกฎแต่วิ่งอยู่ได้เป็นประจำ เพราะมีการจ่ายส่วน ทำไมจึงปราบปรามให้หมดไปไม่ได้?
ก่อนที่จะตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนลองย้อนไปพิจารณาหาเหตุหรือที่มาอันเป็นเหตุจูงใจให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกจำใจต้องทำผิดกฎหมาย ก็จะสรุปได้ดังนี้
1. ต้นทุนของการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งด้วยรถบรรทุก 65% เป็นค่าเชื้อเพลิง เมื่อราคาเชื้อเพลิงแพงขึ้นทำให้ต้นทุนต่อเที่ยวเพิ่มขึ้น ดังนั้น การบรรทุกน้ำหนักตามที่กฎหมายกำหนดไม่คุ้มทุน และถ้าไม่สามารถขึ้นราคาค่าบรรทุกได้ ทางเดียวที่ทำได้ก็คือ บรรทุกน้ำหนักเพิ่มเพื่อให้คุ้มทุน และมีกำไรมากพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้
2. รถบรรทุกจะบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่เกิน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจที่จะเรียกตรวจสอบ และนำไปชั่งน้ำหนักที่ด่านชั่งได้ จึงทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา และนี่เองเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายส่วย และมีเครื่องหมายบอกให้รู้ว่าได้จ่ายแล้ว จะได้ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจให้เสียเวลา เป็นการซื้อความสะดวก
เมื่อมีการจ่ายส่วยแล้ว ผู้ประกอบการก็กล้าทำผิดกฎหมาย โดยการบรรทุกน้ำหนักเกิน และนี่เองคือที่มาของสติกเกอร์รถบรรทุก
ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการจ่ายส่วยรถบรรทุกดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหานี้จะต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งพอจะสรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้
1. จะต้องให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกได้รับส่วนลดค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล
2. การขนส่งทางบก จะต้องควบคุมมิให้มีการดัดแปลงสภาพรถ เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยการต่อเติมตัวถังให้สูงขึ้น และเสริมแหนบเสริมเพลา เป็นต้น
3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องควบคุมพฤติกรรมตำรวจให้อยู่ในระเบียบวินัยโดยเคร่งครัด และพบว่ากระทำผิดจะต้องลงโทษอย่างหนัก มิใช่เพียงแค่โยกย้ายออกจากพื้นที่แล้วสอบสวนพอเป็นพิธี แล้วปล่อยให้เรื่องเงียบไป
อีกประการหนึ่ง เพื่อลดปัญหารถบรรทุก รัฐบาลจะต้องเร่งโครงการรถไฟรางคู่ให้เร็วขึ้น และให้เกิดขึ้นทั่วถึงในทุกภาคของประเทศ แล้วส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งใช้ระบบรางเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกัน ควรจะได้ปรับปรุงการขนส่งทางน้ำ โดยการขุดลอกแม่น้ำและคลองขนาดใหญ่ ซึ่งต่อเชื่อมระหว่างจังหวัดเพื่อส่งเสริมให้มีการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง