เชียงราย - เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นำคณะดอดขึ้นเหนือ ตระเวนพบปะกลุ่มประชาชน ตั้งวงคุยกลุ่มอนุรักษ์น้ำโขง เผยเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความท้าทายในภูมิภาค
นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นางลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐฯ ประจำ จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเข้าพบปะกับนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าฯ เชียงราย แล้ว ยังเดินทางไปพบปะกับกลุ่มประชาชน นัยว่าเพื่อความร่วมมือด้านการศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย และหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership)
คณะทูตสหรัฐฯ พยายามแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อชุมชนในภาคเหนือของไทย ด้วยการเข้าเยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าไทลื้อและกลุ่มรักษ์เชียงของ ที่มีนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ เป็นแกนนำ และนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ซึ่งทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขามายาวนาน
นายโรเบิร์ด โกเดค กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มาเชียงราย เพื่อเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-ไทย ในพื้นที่ภาคเหนือและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความท้าทายต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ผ่านกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ เพื่อรับมือความท้าทายระดับภูมิภาค และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ
โดยสหรัฐฯ ได้มอบเงินหลายล้านเหรียญในโครงการต่างๆ เพื่อการส่งเสริม ฝึกอบรม และสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่น มีการฝึกอบรมองค์กรเอกชน ให้ความรู้แก่เยาวชนคนหนุ่มสาว และส่งเสริมการสื่อสารระหว่างชุมชนต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงกับนักวิชาการ เช่น เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ได้เปิดตัวโครงการ Mekong Safeguards ซึ่งมีทุนสนับสนุน 10.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯลฯ
เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยยังระบุถึงความร่วมมือกับไทยทั้งด้านการส่งเสริมการศึกษา การแก้ปัญหายาเสพติด สิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของไทยและสามเหลี่ยมทองคำถือว่ามีความสำคัญจึงควรช่วยกันป้องกันสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและอยากให้เสียงของชุมชนได้สะท้อนออกมาและบอกถึงความต้องการในอนาคตด้วย
นายสมเกียรติกล่าวว่า ในการพบปะกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ครั้งนี้ ได้มีการหารือกันเรื่องปัญหาเกี่ยวกับแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อวิถีของชาวบ้าน ฯลฯ ซึ่งได้สะท้อนออกมามากกว่า 10 ปี ผ่านการวิจัย รายงานทางวิชาการ การวิเคราะห์ปัญหาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ฯลฯ ที่ล้วนเป็นที่ประจักษ์ว่าการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้การเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบ อาทิ การระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง