xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงศาสนา เร่งพัฒนาศาสนสถานและชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงศาสนา เร่งพัฒนาศาสนสถานและชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม พร้อมต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมแผนการท่องเที่ยวในมิติทางศาสนาผ่านกิจกรรม “เส้นทางธรรมแห่งศรัทธา เส้นทางสักการะพระบรมธาตุ” ซึ่งจัดขึ้นที่พระธาตุศักดิ์สิทธิ์จำนวน 3 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงศาสนา พัฒนาวัด ศาสนสถาน และชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต พร้อมรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมจัดทำแผนกิจกรรมครั้งนี้ กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จังหวัดเชียงราย โดยนำร่องกิจกรรม “เส้นทางธรรมแห่งศรัทธา เส้นทางสักการะพระบรมธาตุ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ผ่านการใช้มิติทางศาสนาเพื่อพัฒนาสู่เส้นทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งจัดขึ้นที่พระธาตุศักดิ์สิทธิ์จำนวน 3 แห่ง คือ พระธาตุผาเงา พระธาตุจอมกิตติ และพระธาตุเจดีย์หลวง เพื่อให้ผู้คนได้ตามรอยอารยสถาปัตยธรรม ความเชื่อ ความเลื่อมใส และความศรัทธา

สำหรับกิจกรรมในแต่ละวัดจะมีการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในด้านการเดินทาง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จุดชมโบราณสถาน การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สินค้าชุมชน กาดหมั้วครัววัฒนธรรม การแสดงวัฒนธรรม และการแสดงฝีมือสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของเยาวชน ตลอดจนการจัดแสดงผลงานศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาทุกวันอาทิตย์อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับ 3 เส้นทางตามโครงการ “จาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา” ได้แก่ เส้นทางสักการะพระธาตุ จังหวัดเชียงราย เส้นทางตามรอยพระเถราจารย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง จังหวัดมุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ และหนองคาย

“นายกรัฐมนตรีส่งเสริมการดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนา โดยได้ผสานมิติทางศาสนาที่ทรงคุณค่า เข้ากับเส้นทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น ช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ไปสู่ฐานราก รวมถึงเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยซึ่งมีต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก จะสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคตได้ และพร้อมต่อยอดเเหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น