xs
xsm
sm
md
lg

AI สู้จิตวิญญานคนไม่ได้! UOB เปิดเวทีประกวดผลงานศิลปะ ปูทางศิลปินไทยสู่นานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - ธนาคารยูโอบีเปิดเวทีประกวดจิตรกรรมทั้งระดับประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปูทางหนุนศิลปินไทยขึ้นชั้นนานาชาติ เผยยุคนี้แม้งาน AI สุดเนี้ยบ แต่จิตวิญญาณสู้ผลงานคนไม่ได้


วันนี้ (9 พ.ค. 66) ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จัดแถลงข่าวการจัดประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 และก้าวสู่การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 42 โดยจะเปิดให้ศิลปินผู้มีสัญชาติไทยและผู้มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทย ส่งผลงานทางศิลปะผ่านระบบดิจิทัล www.uob.co.th/poy ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.-15 ส.ค. 2566 นี้ และจะมีพิธีประกาศ-มอบรางวัลในวันที่ 11 ต.ค.

ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศการประกวดในระดับประเทศไทยจะได้ร่วมประกวดในเวทียูโอบี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 42 ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีโอกาสได้รับเลือกเป็นศิลปินพำนัก ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 เดือนอีกด้วย

น.ส.ธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ยูโอบีเชื่อมั่นในการสร้างคุณค่าของคนทั้งเรื่องการศึกษา สังคม และศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะที่ช่วยยกระดับจิตใจ ความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมมนุษย์เข้าด้วยกัน

สิ่งสำคัญคือ ยูโอบีดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในประเทศไทยจัดขึ้นมาเป็นปีที่ 14 แล้ว เพื่อเป็นเวทีให้ศิลปินไทยได้แสดงฝีมือในระดับนานาชาติ เริ่มต้นจากเวทีที่ประเทศสิงคโปร์ดังกล่าว โดยเฉพาะในปี 2566 นี้ การประกวดยูโอบี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีศิลปินเข้าร่วมมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมามี 4 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ได้เพิ่มเติมประเทศเวียดนามเข้ามาอีกประเทศหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ การประกวดระดับประเทศแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทอาชีพ ชิงรางวัลมูลค่า 1,760,000 บาท และศิลปินมือใหม่หรือสมัครเล่น ชิงรางวัลมูลค่า 125,000 บาท รวมทั้งทำให้ศิลปินได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีนานาชาติ โดยในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 มีศิลปินส่งเข้าประกวดนับ 1,000 ราย ต่อมาปี 2565 มีส่งเข้าร่วมประมาณ 600-700 ราย จึงคาดหวังว่าในปีนี้ผู้เข้าร่วมประกวดจะกลับมาคึกคักมากกว่าเดิม


นายชมรวี สุขโสม ผู้ชนะการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 13 และยูโอบี ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2565 กล่าวว่า ตนส่งผลงานเข้าประกวดมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รางวัล จึงได้ใช้เวลาประมาณ 1 ปีสร้างสรรค์ผลงานที่มีแนวคิดด้านมนุษย์และสังคม สงคราม โรคระบาด ภัยพิบัติ ฯลฯ ที่เข้ากับยุคสมัย จนได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งที่ 13 ซึ่งเมื่อได้รับรางวัลพบทำให้ได้ประสบการณ์ดีมากเพราะได้พบปะศิลปินนานาชาติทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงาน

ด้านอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) ปี 2563 และรองอธิบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า การเฟ้นหาศิลปินเป็นเรื่องยาก เพราะแม้แต่ตนซึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่นประมาณ 120 คน ก็มีคนที่ออกมาเป็นศิลปินแค่ 3 คน แต่เนื่องจากปัจจบันมีเวทีให้ศิลปินได้แสดงผลงานมากขึ้นจึงเป็นโอกาสที่ดีมาก โดยเฉพาะในการประกวดระดับภูมิภาคครั้งนี้มีเพิ่มเติมประเทศเวียดนามขึ้นอีก และถัดจากเวทีนี้ศิลปินไทยก็มีโอกาสร่วมเวทีอื่นๆ ได้อีกอย่างต่อเนื่อง

"ยอมรับว่าทุกวันนี้เราแยกระหว่างผลงานของ AI กับคนได้ยาก แต่จากการศึกษา การรวบรวมข้อมูล ทำให้เราเข้าถึง original ที่ AI ไม่สามารถทำได้ การขีดเขียน ลบเส้นผิดหรืออื่นๆ นั้น AI ก็ไม่มี" อาจารย์อำมฤทธิ์กล่าวเมื่อถูกถามว่าจะสามารถแยกแยะระหว่างผลงานของ AI กับของมนุษย์จากการที่มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น