สถานบันเทิงย่านสนามบินอู่ตะเภา มีเฮ! “กฤษฎีกา” ชี้ช่อง “มหาดไทย” จ่อออกกฎกระทรวง สันทนาการ 24 ชม. ทุกประเภท ในพื้นที่ “เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก” รองรับนักธุรกิจ ผู้เดินทาง นักท่องเที่ยว แต่ยังแย้งไม่จำเป็นต้อง “เปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง” รวมถึงไม่จำเป็นต้องระบุจำนวนเนื้อที่ ลักษณะของพื้นที่ แม้ กพอ. ระบุไว้ 1,032 ไร่
วันนี้ (24 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้ตรวจพิจารณา ร่างกฎกระทรวง
“กำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.. ของกรมการปกครอง (ปค.) ในพื้นที่ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) โดยเฉพาะในพื้นที่ "ท่าอากาศยานอู่ตะเภา”
ตามหลักการ คือ เสนอเปิดให้บริการเพื่อรองรับนักเดินทาง และผู้ใช้บริการสนามบิน “นักธุรกิจ ผู้เดินทาง นักท่องเที่ยว” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ต่อสถานบริการทุกประเภท ที่ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก
โดยเห็นชอบให้ ปค.แก้ไขบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว โดยให้ระบุ เฉพาะเหตุผลของการแกไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547
“เพื่อปรับปรุงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภท ซึ่งตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องระบุจำนวนเนื้อที่ และลักษณะของพื้นที่แต่อย่างใด”
เนื่องจากการกำหนดเนื้อที่ดังกล่าว เป็นเพียงการประมาณและเป็นเพียงรายละเอียดของการดำเนินการเท่านั้น ไม่จำต้องระบุไว้ในเหตุผล
ทั้งนี้ ยังให้พิจารณาทบทวนเนื้อหา ให้มีความรัดกุมโดยให้อยู่ภายใต้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจระบุรวมไปถึงการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตด้วย
เนื่องจากการกำหนด วันเวลาเปิดปิดสถานบริการบางประเภท “ไม่จำเป็นต้องเปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง”
จึงควรกำหนดให้เป็น ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการอนุญาตว่า จะให้สถานบริการแต่ละประเภทเปิดปิดเวลาใด โดยให้แก้ไขจาก “ให้เปิดทำการได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เป็น ไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมง”
ฝ่ายกฎหมาย ให้ตัดความว่า “เรื่อง กำหนดเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 13 ก.พ. 2561” ในข้อ 6/1 ของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวออก
และแก้ไขเป็น “ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก” แทน เนื่องจากหากมีการปรับปรุงแก้ไขในภายหน้า จะได้มิต้อง มาแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวอีก
ให้กำหนดข้อยกเว้นให้แก่ “ผู้ที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อน” ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ควรจัดทำในระดับพระราชบัญญัติ ไม่ควรนำมากำหนดไว้ ในกฎกระทรวง
ดังนั้น หากกรมการปกครอง จะมีการแก้ไข ข้อ 7 ของกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของ สถานบริการ พ.ศ. 2547 ในภายหน้า
ควรดำเนินการตามหลักการร่างกฎหมาย กล่าวคือ ควรกำหนดไว้ใน กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ไม่ควรนำมากำหนดขยายเพิ่มเติม เป็นข้อยกเว้นไว้ในกฎหมายลำดับรอง
มีรายงานว่า ในประเด็น เปิดสถานประกอบการได้ตลอด 24 ชั่วโมง กรมการปกครอง ได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือในประเด็นว่า
รมว.มหาดไทย จะใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 ในการออกกฎกระทรวง
กำหนด “วันเวลาเปิดปิดของสถานบริการในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกหรือ พื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดให้ต่างไปจากพื้นที่อื่น ได้หรือไม่ อย่างไร”
โดย คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 คณะที่ 2 และ คณะที่ 5) ได้พิจารณาข้อหารือ สรุปได้ว่า ปัจจุบันกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการเป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547
กำหนดเวลาเปิดทำการตามประเภทของสถานบริการ ตามมาตรา 3(1) ถึง (5) และในกรณีที่เป็นสถานบริการตามมาตรา 3(1) (3) และ (4) จะกำหนดเวลาเปิด ทำการไว้แตกต่างกัน
โดยแบ่งตามเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดย พระราขกฤษฎีกา และสถานบริการที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าว
ในส่วนการ “กำหนดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นั้น ปัจจุบันเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งไม่ใช้บังคับ “แก่การขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ” และกำหนดให้การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “ในสถานบริการ” เป็นไปตามกำหนดเวลาเปิดปิดของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วย สถานบริการ
สำหรับการตั้งสถานบริการในพื้นที่เมืองการบิน (Airport City) ที่ประสงค์จะให้เปิดทำการได้ ตลอด 24 ชั่วโมงตามที่ขอหารือนั้น จะดำเนินการภายในพื้นที่บางส่วนของ “เขตส่งเสริม เมืองการบินภาคตะวันออก” โดยมีพื้นที่ประมาณ 1,032 ไร่ ตามมติ กพอ.
มีการแบ่งการใช้พื้นที่และประเภทกิจกรรม เฉพาะกลุ่ม เช่น โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้า พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ร้านอาหารที่มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
และตามแผนงานโครงการจะเป็นการดำเนินการภายในพื้นที่ปิดอย่างเคร่งครัด มีการกั้นรั้วสูงโดยรอบ บริเวณพื้นที่และกำหนดประตูเข้าออกที่แน่นอน
รวมทั้งมีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ในการควบคุมและกำกับการเข้าออกของบุคคลทั่วไป และภายในพื้นที่เมืองการบินโดยจะไม่กระทบ ต่อความสงบเรียบร้อยหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ
สำหรับประเด็นปัญหาที่ ขอหารือว่า รมว.มหาดไทย มีอำนาจออกกฎกระทรวงได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดเดียวกัน ได้พิจารณา ว่า รมว.มหาดไทย ควรใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมแก่กรณี
อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยเอง ก็ได้เคยออกกฎกระทรวงที่มีการกำหนดเวลา เปิดปิดสถานบริการ แต่ละพื้นที่แตกต่างกันมาแล้ว ดังเช่นกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2524)
“ด้วยเหตุนี้ รมว.มหาดไทย ในการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ที่จัดตั้งและดำเนินการพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จึงมีอำนาจออกกฎกระทรวง ในบางพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสมแห่งพื้นที่นั้นๆ ได้”
มีรายงานว่า ที่ผ่านมา กรมการปกครอง ได้เปิดการรับฟังความคิดเห็น เปิดสถานประกอบการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2566 มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น 107 ราย เห็นด้วย 66 ราย ไม่เห็นด้วย 39 ราย