xs
xsm
sm
md
lg

เยือน “วัดท่าคอย” ชมความงามโบสถ์หลังเก่าสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดท่าคอย จ.เพชรบุรี
วัดท่าคอย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง เป็นวัดที่สร้างมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง โดยมีหลักฐานสำคัญของวัด คือ อุโบสถหลังเก่า หอระฆัง จากการสันนิษฐานและตรวจสอบของกรมศิลปากรระบุว่า เป็น โบราณสถานที่มีอายุมากว่า 300 ปี เป็นรูปทรงที่สร้างในสมัยนั้น และได้ขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถานแห่งชาติ และเมื่อปี พ.ศ. 2536 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษา ได้ออกหนังสือรับสภาพวัดว่าสร้างก่อน ปี พ.ศ. 2313

อุโบสถหลังเก่า อยากว่า 300 ปี
สิ่งสำคัญของวัดท่าคอย คือ อุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนขนาดย่อม ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับฐานใบเสมา เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานอ่อนโค้ง ด้านหน้า ต่อมุขยื่นออกมาประมาณ 4 เมตร มีหลังคาคลุมลาด ใบเสมาศิลาทรายแดงจำหลักในซุ้มทรงกูบ

บริเวณหน้าบันของอุโบสถหลังเก่า
ผนังด้านข้างมีเสาอิงประดับลายปูนปั้นที่หัวเสาบัวแวงและเฟื่องอุบะ เจาะหน้าต่าง 2 บาน ที่ห้องที่ 2 และห้องที่ 4 เป็นซุ้มเรือนแก้วประดับลวดลายปูนปั้น บันแถลงลด 2 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันผนังด้านใต้ ซุ้มห้องที่ 2 รูป เทพนม ห้องที่ 4 รูปหน้ากาล ซุ้มหน้าต่างที่ผนังด้านเหนือซุ้มห้องที่ 2 รูปยักษ์ยืนถือกระบอง จั่วหน้าบันหลังคาตอนบนรูปเทพนมล้อมด้วยลายก้านกนกหางโต ตอนล่างรูปมกร

ด้านหน้าอุโบสถหลังเก่า
ภายในอุโบสถหลังเก่า ลักษณะพื้นปูนขัดเรียบปูทับด้วยเสื่อน้ำมัน ด้านหลังก่อฐานชุกชีทรง สี่เหลี่ยมสูง 1 เมตร พระประธานปางมารวิชัยองค์ขนาดใหญ่ ขัดสมาธิราบ ประทับบนฐานประดับปูนปั้นปิดทอง เบื้องหน้ามีพระสาวกปูนปั้นนั่งพับเพียบพนมมือนั่งบนฐานกลีบบัวใต้ ฉัตร 3 ชั้น เพดานมีภาพเขียนสีประดับ เป็นจิตรกรรมที่เขียนบนพื้นไม้

ภาพจิตรกรรมบนเพดาน
ใกล้กับอุโบสถหลังเก่ามีเจดีย์เรียงกัน 4 องค์ เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นภายหลังต่อจากอุโบสถ มีจำนวน 4 องค์ ที่ด้านหน้าฐานพระอุโบสถ มีฐานชุกชีก่อสกัดติดต่อกัน เป็นฐานชุกชีก่ออิฐถือปูน มีพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ 12 ตั้งเรียงกัน 4 องค์ ขนาดเล็ก มีฐานสิงห์ซ้อนกัน 2 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นบัวกลุ่มบัวปากปลิง องค์ระฆัง บัลลังก์ เสาหาร บัวเถา และปลียอดลูกแก้ว ไม่สามารถระบุได้ว่าสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด

พระประธานภายในอุโบสถหลังเก่า
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีหอระฆัง โดยสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา คู่กับโบสถ์ มีความงดงามตามแบบอย่างศิลปะของไทยผสมกับจีน สูง 5 เมตร กว้าง 3.5 เมตร ยาว 3.5 เมตร ตั้งอยู่เบื้องหลังพระอุโบสถหลังเก่า ห่างกันประมาณ 100 เมตร เป็นอาคาร ก่ออิฐถือปูน ฐานก่อทึบฐานสิงห์ ก่อพนักอิฐถือปูนล้อมรอบเจาะทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ตัวอาคารทรงสี่เหลี่ยม เหมือนกัน ทั้ง 2 ชั้น มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ ประดับลายปูนปั้นที่มุมรูปดอกไม้ หลังคาทรงจีนเทปูน หลังคาเป็นเส้นลอน คอสองประดับลายปูนปั้นที่ยอดหลังคาและที่ มุมทั้ง 4 ประดับบราลี

เจดีย์ 4 องค์
และอีกหนึ่งสิ่งที่มีความน่าสนใจ อยู่ที่ศาลาการเปรียญ เป็นเรือนไม้ทรงไทยขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถหลังใหม่ ตั้ง หันไปยังทิศตะวันออก หลังคาทรงจั่วไม่มีขั้นลด ผืนหลังคาปีกนกแผ่ลาดลงทั้ง 4 ด้าน มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หน้าบันไม่มีลวดลาย

ภายในศาลาการเปรียญ
ภายมีขนาด 6 ห้อง มีเสากลมไม้มะค่ารองรับขื่อจำนวน ๒ คู่ และเสากลมองฝาจำนวน 24 ต้น เพดานห้องที่ 2, 3, 4 และ 5 มีจิตรกรรมฝาผนังและ มีธรรมาสน์จำหลักลงรักปิดทองตั้งอยู่ตรงกลางห้องที่ 6 พื้นศาลาปูไม้กระดาน ด้านเหนือยกพื้นสูงเป็นอาสนสงฆ์ยาวตลอดด้านคอสองและฝ้าปีกนกตีฝ้าสีขาวเดินเส้นสีน้ำตาลไหม้

ส่วนจิตรกรรมที่เพดานศาลาการเปรียญ เป็นจิตรกรรมที่เขียนบนพื้นไม้ ถือรองพื้นด้วยดินสอพองผสมกาว ลักษณะของเนื้อที่ภาพจัดแบ่งเป็นห้อง ไม่เขียนเป็นเรื่องราว แต่จะเขียนลักษณะเป็นเรื่องของภาพประดับ ซึ่งแฝงด้วยคติธรรมบางอย่างค่อนข้างลึกซึ้งนัก

ภาพจิตรกรรมบนศาลาการเปรียญ
การจัดองค์ประกอบเป็นการจัดที่จะร่างภาพไม่มีความซับซ้อน หากคำนึงถึงช่องไฟ และจังหวะเล็กและใหญ่ของตัวภาพและลายประกอบให้ได้สัดส่วนกับช่องไฟ มีการเน้นที ส่วนสำคัญไว้ในกึ่งกลางภาพ โดยเขียนลวดลายหรือตัวลายประกอบบ้าง ตัวภาพสัตว์บาง ภาพ จัดวางภาพได้น้ำหนักทั้งด้านซ้ายและขวา ตัวภาพและตัวลายเท่ากันทั้งสองข้าง น้ำหนักของภาพจึงลงตัวโดยไม่มีด้านใดด้านหนึ่งหนักเกินไป ภาพทุกห้องจะล้อมรอบด้วย กรอบซึ่งเขียนเป็นลายดอกไม้และลายชายผ้า สีที่ใช้เป็นสีฝุ่นผสมกาว มีสีแดง ดำ เขียว เหลือง ขาว ไม่มีการปิดทองตัดเส้น

อุโบสถหลังใหม่

พระประธานอุโบสถหลังใหม่
ภาพจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะลงพื้นครามผสมดำ มี 2 ห้อง และกลุ่มที่สองลงขาวเจือคราม ภาพที่เขียนส่วนใหญ่ จะเป็นภาพนกและสัตว์ในวรรณคดี เช่น หงส์ นกหัสดีลิงค์ นอกจากนั้นยังมีผีเสื้อและภาพประกอบในจุดสำคัญด้วย นอกจากสัตว์ในวรรณคดีแล้ว ในภาพจิตรกรรมยังมีภาพของผลไม้ต่าง ๆ มาประดิษฐ์เป็นลวดลายได้อย่างงดงามมาก เช่น เอามังคุด ชมพู่ น้อยหน่า และดอกไม้อื่นๆ มาประกอบด้วย

ด้านหน้าอุโบสถหลังใหม่

อุโบสถหลังเก่า อายุกว่า 300 ปี

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel  MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น