ลำปาง - ปศุสัตว์สกัดจับคาด่านฯ แม่พริก..ส่งดำเนินคดีก่อนขุดหลุมฝังชิ้นส่วนหมูเถื่อนติดเชื้อ 3 ตัน พบปลอมเอกสารขนย้ายส่งตีตลาดขายถูก สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ แฉซ้ำผู้ค้ารายใหญ่บางรายสมคบคนมีอำนาจลอบนำเข้า ทำเสี่ยงเชื้อ AFS ระบาดซ้ำ ทำลายเกษตรไทยทั้งระบบ
วันนี้ (10 เม.ย. 66) นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในการทำลายซากสุกรของกลางทิ้งด่านกักกันสัตว์ลำปาง ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยนายศร ธีปฏิมากร ปศุสัตว์จังหวัดลำปาง กล่าวรายงานว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง ด่านกักกันสัตว์ลำปาง ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ร่วมกันจัดพิธีทำลายซากสัตว์ของกลาง ณ ด่านกักกันสัตว์ลำปาง ในวันนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดจากเชื้อก่อโรคที่มาจากซากสุกรที่ลักลอบเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่จังหวัดลำปาง ตามมาตรการควบคุม ป้องกัน การเกิดโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาและโรคระบาดในสุกร
กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์ทุกพื้นที่ทุกอำเภอ ด่านกักกันสัตว์ทุกหน่วยเข้มงวดมาตรการการเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิต ซากสุกร เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดจากเชื้อก่อโรคที่มาจากสุกรมีชีวิต ซากสุกรที่ลักลอบเคลื่อนย้าย โดยไม่ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่ จนอาจเกิดผลกระทบทั้งด้านความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
สำหรับเนื้อสุกรที่นำมาทำลายทิ้งในวันนี้ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจสัตว์แม่พริก ลำปาง สารวัตรกรมปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์ลำปาง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่พริก ซึ่งตั้งจุดตรวจบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 490-491 ทางหลวงหมายเลข 1 รอยต่อลำปาง-ตาก
กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2566 พบรถยนต์ 4 ล้อบรรทุกชิ้นส่วนสุกรจำนวน 3,000 กิโลกรัม มีผ้าใบคลุมมิดชิด โดยคนขับรถได้แสดงเอกสารใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายว่านำมาจากต้นทางจังหวัดราชบุรี ปลายทางอำเภอเมืองลำปาง
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบใบอนุญาตดังกล่าวออกโดยระบบ EPP และทำการเช็กในระบบ e-movement แล้วปรากฏว่าเลขที่ใบอนุญาตเป็นเลขที่ที่ออกมาแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 จึงได้รายงานปศุสัตว์เขต 5 ทำการตรวจสอบไปยังบริษัทต้นทาง ซึ่งได้รับการยืนยันว่าบริษัทไม่ได้เป็นผู้ออกใบอนุญาตดังกล่าวและไม่ได้เป็นเจ้าของชิ้นส่วนสุกร รวมทั้งรถและคนขับ
เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมกล่าวโทษในข้อหากระทำการเคลื่อนย้ายชากสัตว์ข้ามเขตจังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 34 วรรคแรก) และกระทำการเคลื่อนย้ายชากสัตว์เข้าเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 22 ) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางชิ้นส่วนสุกรจำนวน 3,000 กิโลกรัม ส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่พริก เพื่อดำเนินคดี
นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดลำปางได้เข้มงวดในเรื่องดังกล่าวเพื่อป้องกันโรคที่จะระบาด ส่วนหนึ่งที่มีการลักลอบนำหมูเถื่อนมาจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการคือเรื่องราคาที่ถูก แต่ผู้ประกอบการไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพหรือผลเสียที่จะตามมา ทั้งเรื่องของโรคที่ผู้บริโภคจะได้รับ รวมถึงทำลายกลไกการตลาดด้วย จึงอยากให้ผู้ประกอบการเลือกซื้อหมูจากผู้ประกอบการที่ถูกต้อง ปลอดภัย
ทั้งนี้ หลังจากที่ฝังกลบซากเนื้อหมูเถื่อนแล้ว นายกสมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคเหนือได้มอบสินน้ำใจแก่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ที่ได้ช่วยกันจับกุมผู้ที่ลักลอบนำหมูเถื่อนมาขายให้ผู้บริโภคด้วย
สมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคเหนือระบุว่า ทุกวันนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายสมคบคิดกับผู้มีอำนาจระดับสูง ลักลอบนำชิ้นส่วนสุกรเข้ามาจำหน่ายในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ในรูปแบบสุกรแช่แข็งและสุกรแพกเป็นกล่อง จากหลายประเทศ เช่น บราซิล, รัสเซีย, สเปน เป็นต้น ซึ่งสุกรในประเทศดังกล่าวล้วนแล้วแต่เกิดสภาวะโรคระบาด ASF มาแล้ว
การลักลอบนำเข้ามาเป็นการนำซากสุกรที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส ASF เข้ามาในประเทศไทย (เชื้อไวรัส ASF มีความคงทนและอยู่ในเนื้อสุกรได้ยาวนาน) อาจก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อ ASF อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรที่เคยเสียหายจากโรคระบาดนี้จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวกันทั่วประเทศ
ปัจจุบันมีการลักลอบนำหมูจากต่างประเทศดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ส่งผลทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถขายหมูตามกลไกทางการตลาดได้ ซึ่งปัจจุบันต้นทุนด้านอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีต้นทุนที่สูงตามมา โดยสาเหตุจากนโยบายที่ผิดพลาดของผู้มีอำนาจในการสั่งการ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยอยู่ไม่ได้ จะเกิดสิ่งที่น่ากลัวและซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงคือการปล่อยให้มีการลักลอบนำหมูจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราคาถูก
ซึ่งชิ้นส่วนหมูเหล่านี้ แหล่งที่มาไม่มีความชัดเจน หลายประเทศมีการอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง แต่ในประเทศไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงเพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในระยะยาว และนอกจากสารเร่งเนื้อแดง
กระบวนการลักลอบนำชิ้นส่วนเข้ามาไม่ได้ผ่านมาตรฐานการส่งออกและเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะได้รับเชื้ออื่นๆ ที่สามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น เชื้อ E.Coli, เชื้อซัลโมเนลลา, เชื้อสเตรปโตคอคคัส และเชื้อแบคทีเรียก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ในคน และยังเป็นการนำโรค ASF กลับมาสู่ความหายนะต่อวงการปศุสัตว์ของประเทศไทย
หากรัฐบาลและหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาช่วยร่วมจัดการเอาจริงเอาจังกับเรื่องชิ้นส่วนที่มีการลักลอบนำเข้ามา อาจส่งผลกระทบและทำลายวงจรอาชีพของเกษตรกรไทยซึ่งประเทศไทยมีเกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ข้าวโพด, รำ, ปลายข้าว, มันสำปะหลัง เป็นจำนวน 4.9 ล้านครัวเรือน จะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาลูกโซ่กับเศรษฐกิจของไทย มีผลกระทบถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้
“การลักลอบนำสุกรแช่แข็งเข้ามาแบบไม่ถูกต้องครั้งนี้ ผู้ประกอบการปกติคงไม่สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้อย่างแน่นอน ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจลงนามหรือมีผู้มีอำนาจระดับสูงสั่งการ ซึ่งมูลค่าการนำเข้าสุกรแช่แข็งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท ถือเป็นการทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทย นอกจากเนื้อสุกรแช่แข็งที่ลักลอบนำเข้ามาแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการที่ลักลอบนำเข้ามายังได้มีการนำผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง, โคเนื้อแช่แข็ง, เครื่องในแช่แข็ง เข้ามาอีกด้วย”
ดังนั้นขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยในการปราบปรามชิ้นส่วนสุกรที่มีการลักลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำลายกลไกทางการตลาดของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เศษฐกิจ เช่น สุกร, สัตว์ปีก, โคเนื้อ, กระบือ เป็นต้น และอาชีพปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย จะทำลายอาชีพเกษตรกรไทย ทำความเสียหายเป็นห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ และจะเป็นปัญหาของประเทศไทยต่อไป