ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชเจอไฟป่า 16 ครั้งในช่วง 5 เดือน ทำพื้นที่ป่าเสียหายกว่า 226 ไร่ เผยอุทยานฯ ทับลานโดนเผา 12 ครั้ง สูญป่า 173 ไร่ ส่วนอุทยานฯ เขาใหญ่โดน 2 ครั้ง สูญ 30 ไร่ ขณะที่ปี 66 แค่ 3 เดือนพบเผาพื้นที่เกษตรมากถึง 695 จุด กระจายใน 32 อำเภอ จังหวัดฯ สั่งยกระดับมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหามลพิษจากไฟป่าหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 เร่งด่วน
วันนี้ (4 เม.ย.) ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมาได้ประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ห้องประชุมท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มอบหมายให้ นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มาเป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประเมินสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดนครราชสีมา และติดตามผลการดำเนินมาตรการการป้องกันและแก้ไขของแต่ละหน่วยงานในห้วงที่ผ่านมา
นายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเลขานุการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดฯ ได้รายงานว่า ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 จังหวัดนครราชสีมาเกิดสถานการณ์ไฟป่า ไปแล้ว 16 ครั้ง โดยเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 12 ครั้ง เสียหายไป 173 ไร่, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2 ครั้ง ป่าเสียหายไป 30 ไร่ และป่าวังน้ำเขียว 2 ครั้ง ป่าเสียหาย 23 ไร่ รวมพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้เสียหายไป 226 ไร่
เมื่อตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดไฟป่า พบว่าเกิดจากการลักลอบเผาเพื่อหาของป่า มากสุดจำนวน 13 ครั้ง ทำให้ป่าเสียหายไป 188 ไร่, จากเผาไร่ 1 ครั้ง เสียหาย 15 ไร่ และเกิดจากการเผาอื่นๆ อีก 2 ครั้ง เสียหายไป 23 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบการเผาริมทางอีก 25 ครั้ง ในพื้นที่ริมทางหลวง และทางหลวงท้องถิ่น เป็นระยะทางกว่า 32 กิโลเมตร
ในขณะเดียวกัน สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมารายงานว่า ในช่วง 3 เดือนของปี 2566 พบจุดความร้อน Hotspot ในพื้นที่การเกษตรมากถึง 695 จุด กระจายพบทั้ง 32 อำเภอ โดยอำเภอที่พบจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตรมากสุด จากการลักลอบเผาและจากสาเหตุอื่นๆ คือ อำเภอด่านขุนทด พบจุดความร้อนมากถึง 109 จุด รองลงมาคือ อำเภอโนนสูง พบจุดความร้อน 84 จุด, อำเภอพิมาย 78 จุด, อำเภอสีคิ้ว 55 จุด, อำเภอโนนไทย 57 จุด, อำเภอปากช่อง 42 จุด, อำเภอปักธงชัย 40 จุด ส่วนอีก 25 อำเภอพบจุดความร้อนไม่เกิน 30 จุด
จังหวัดนครราชสีมาจึงยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นประเด็นเร่งด่วน โดยให้ควบคุมการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ริมทาง และบ่อขยะ และให้รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชน ตลอดจนดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุกในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดการเผา
โดยให้อำเภอทั้ง 32 อำเภอทำงานร่วมกับเกษตรอำเภอ ลงพื้นที่แจ้งเกษตรกรที่ยังไม่เก็บเกี่ยวผลผลิต ให้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกษตรกรได้ทราบ จะได้ไม่ไปลักลอบเผาซากพืชผลเกษตร ซึ่งหากยังฝ่าฝืนลักลอบเผาจะดำเนินการทางกฎหมายทันที ในข้อหา “เผาหรือกระทำการด้วยประการใดๆ ภายในระยะ 500 เมตรจากทางเดินรถ เป็นเหตุให้เกิดควันหรือสิ่งอื่นใดในลักษณะที่อาจทำให้ไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางเดินรถ” โดยจะส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีทันที
นอกจากนี้ ให้ผู้ใหญ่บ้าน อปท. อำเภอ และตำรวจออกลาดตระเวน-แจ้งเหตุ ติดตามสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ดูแล และจัดอุปกรณ์เผชิญเหตุไว้ให้พร้อม ควบคู่ไปกับการควบคุมฝุ่นละอองในพื้นที่ชุมชนด้วย ทั้งการฉีดล้างฝุ่นจากผิวจราจร, การควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ การตรวจควันดำ, การควบคุมฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อลดค่าฝุ่นมลพิษในอากาศลงไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน