xs
xsm
sm
md
lg

พายุฤดูร้อนถล่มโคราช เสียหายหนัก 6 อำเภอ บ้านพัง 150 หลัง ล่าสุดกระหน่ำ“โคกกรวด”อ่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- พายุฤดูร้อนถล่มโคราช เสียหายหนัก 6 อำเภอ 16 หมู่บ้าน 6 ตำบล บ้านเรือนประชาชนพังเดือดร้อนกว่า 150 ครัวเรือน ล่าสุดกระหน่ำ ต.โคกกรวด หอบหลังคาปลิวว่อน โค่นต้นไม้ขวางถนน ทับรถยนต์เสียหายอ่วม

วันนี้ (30 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในห้วงวันที่ 28-29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เกิดพายุฤดูร้อนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาหลายจุด เนื่องจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงจากประเทศจีน มาปะทะกับอากาศร้อนในประเทศไทย จึงทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง และลมประโชกแรง ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมา กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ จาก 6 อำเภอที่ประสบสาธารณภัย วาตภัย ในช่วงวันที่ 23-28 มีนาคม 2566 ได้แก่ พื้นที่ หมู่ 9 และ หมู่ 10 ต.หนองพลวง อ.ประทาย , หมู่ 2,6,10 ต.ระเริง อ.วังน้ำเขียว , หมู่ 5 ต.สารภี อ.หนองบุญมาก , หมู่ 5 และหมู่ 6 ต.โนนค่า อ.สูงเนิน , หมู่ 10, 14, 19, 22 ต.โบสถ์ อ.พิมาย และในพื้นที่ หมู่ 5 กับหมู่ 7 ต.กระเบื้องนอก อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา รวมเป็น 16 หมู่บ้าน ใน 6 ตำบล ของ 6 อำเภอ


โดยมีบ้านเรือนได้รับความเสียหายบางส่วนจากแรงลมพายุ รวม 151 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมี วัด 1 แห่ง , ยุ้งฉาง 10 แห่ง และโรงเรียน พืชผลทางการเกษตร โกดัง หรือ คอกสัตว์ ที่ได้รับความเสียหายอีก 19 แห่ง ซึ่งทางอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว


อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายอำเภอที่ไม่ได้รายงานพื้นที่เสียหายจากพายุฤดูร้อนเข้ามาให้ทางจังหวัดทราบ เพราะยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย อย่างเช่น ล่าสุดในพื้นที่ ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา เพิ่งประสบภัยพายุฤดูร้อนพัดถล่มเมื่อช่วงเย็น วานนี้ (29 มี.ค.) โดยแรงลมพายุได้พัดหอบเอาหลังคาสังกะสีของบ้านเรือน , เพิงขายของ , ศาลาที่พักริมทาง ตลอดจน สิ่งปลูกสร้าง และร้านค้า ได้รับความเสียหายอย่างหนัก นอกจากนี้ ยังพัดต้นไม้หักโค่นกีดขวางเส้นทางจราจร และล้มทับรถที่จอดใกล้ๆ ได้รับความเสียหาย โชคดีที่ไม่มีใครอยู่ภายในรถขณะเกิดเหตุ

ล่าสุดวันนี้ ทางเทศบาลตำบลโคกกรวด ได้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อรายงานให้ทางอำเภอและจังหวัดทราบ พร้อมกับให้การช่วยเหลือเยียวตามระเบียบราชการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น


















กำลังโหลดความคิดเห็น