xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครราชสีมาติดอาวุธชูกลยุทธ์ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี แก่ “อสม.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา ติดอาวุธชูกลยุทธ์ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี คัดกรองผู้ป่วยและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้แก่ อสม. พร้อมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมบ้านให้กำลังใจแก่ประชาชนผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย

วันนี้ (15 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดสระบัวเกลื่อน ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นางสาวรสสุคนธ์ พิไชยแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยปิงปองจราจรชีวิต 7 สี โดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาย และชุมชนตำบลบ้านเกาะ จัดขึ้นเพื่อสร้างชุมชนสุขภาวะ


โดยใช้แนวคิดนำ สบช.โมเดล ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี และมาตรการ 3 อ.3 ลด คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ มาใช้ดูแลสุขภาพ เป็นการปรับก่อนป่วย ป่วยแล้วไม่เป็นมากขึ้น เพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ในหลายระดับขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงร่วมกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต การส่งเสริมสุขภาพจึงเน้นให้ประชาชนสุขภาพดี ลดการเกิดโรคและลดระดับภาวะแทรกซ้อน


นางสาวรสสุคนธ์ พิไชยแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา กล่าวว่า ด้วยกลุ่ม อสม.เป็นกำลังสำคัญที่มีส่วนร่วมและได้รับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านสุขภาพ ให้เป็นนักสื่อสารสุขภาพ เป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถถ่ายทอดความรู้ทักษะการดูแลสุขภาพให้แก่บุคคลอื่นๆ ในชุมชนได้อีกด้วย

ดังนั้น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงได้มีการติดอาวุธชูกลยุทธ์ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี คัดกรองผู้ป่วย และป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้แก่ อสม. เพื่อให้เกิดความตระหนักด้านสุขภาพโดยการตรวจสุขภาพ คัดกรอง เฝ้าระวังและป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงของตนเองและชุมชน และพัฒนาเป็นองค์กรสร้างสุขภาพ ลดเสี่ยง ลดโรค พร้อมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายด้วย


ด้าน นางจงกลณี ตุ้ยเจริญ รองผู้อำนวยการฯ ด้านวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ การดำเนินของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยๆ ทวีความรุนแรงและกลายเป็นอาการเรื้อรังในที่สุด จากรายงานของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า ประชากรทั่วโลกมีสาเหตุการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึงร้อยละ 71 ในปี พ.ศ. 2559

สำหรับในประเทศไทยอัตราการป่วยและ การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังก็มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆ ปี ดังเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อประชากรแสนราย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.3 เป็นร้อยละ 22 ระหว่างปี 2561-2562 ดังนั้น บุคลากรด้านสุขภาพ แกนนำสุขภาพต้องร่วมมือกันในการดำเนินการเพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดอัตราการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน และการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น