xs
xsm
sm
md
lg

ไทยติด 1 ใน 5 เกิด "โรคไต" สูงสุด ห่วง "เบาหวาน-ความดัน" ทำผู้ป่วยเพิ่ม แนะเลี่ยง 8 ประเภทอาหารโซเดียมสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยไทยติด 1 ใน 5 ประเทศเกิด "โรคไต" สูงสุด และหลีกเลี่ยง 8 ประเภทอาหารโซเดียมสูง ลดกินหวาน มัน เค็ม รสจัด ช่วยลดเสี่ยง พบผู้ป่วยเบาหวาน-ความดัน 1 ใน 25 กลายเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังรายใหม่ เจอระยะ 5 ต้องล้างไต 6.3 หมื่นคน ระยะแรกมักไม่มีอาการ มาพบตอนอาการรุนแรง พร้อมเผยสัญญาณเตือน

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันไตโลก กำหนดทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของ มี.ค. ทั้งนี้ ไทย มีผู้ป่วยไตเรื้อรัง 11.6 ล้านคน โดยมากกว่า 1 แสนคนต้องล้างไต จากรายงานของ USRDS พบว่า ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงสุด การป้องกันทำได้ด้วยการลดบริโภคโซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ควรรับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ แต่ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มบริโภคโซเดียมมากเกินไป อาจมาจากความชอบกินอาหารเค็ม ติดรสเค็ม หรือไม่รู้ส่วนประกอบของปริมาณโซเดียมในอาหาร หากกินเค็มมากเกินไปเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง และโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ ควรลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน เพิ่มกินผักและผลไม้


นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ควรหลีกเลี่ยง 8 ประเภทอาหารที่เสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกินคือ 1.อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน ผงฟู ซอสต่างๆ 2.เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม 3.อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและครีม เช่น เค้ก พิซซ่า ขนมอบต่างๆ 4.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องในสัตว์ เมล็ดถั่ว กุ้งแห้ง 5.อาหารหมักดอง เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักกาดดอง 6.เนื้อสัตว์ปรุงรสหรือแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม หมูหยอง และอาหารเติมเกลือ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มซอง โจ๊กซอง 7.ลดการกินเนื้อสัตว์ลงโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น คอหมูย่าง เอ็นหมู เอ็นวัว ข้อไก่ และ 8.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอล หรือไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก หอยนางรม ขาหมู รวมทั้งอาหารที่มีส่วนผสมของเนย และครีม เช่น เค้ก พิซซ่า และผลิตภัณฑ์ขนมอบ ที่สำคัญ ควรอ่านฉลากโภชนาการ สังเกตปริมาณโซเดียมและโซเดียมแฝง เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อ หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)


ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลกมีการทำงานของไตผิดปกติ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน สาเหตุมาจากการไม่ได้เข้ารับการรักษาโรคไตวายเรื้อรัง สำหรับสถานการณ์โรคไตเรื้อรังในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 420,212 ราย และระยะ 4 จำนวน 420,212 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 62,386 ราย จึงมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาล ผู้ป่วยความดันควบคุมความดันโลหิตให้ดี รวมถึงระวังการใช้ยาไม่ถูกต้อง ยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรบางชนิด การป้องกันโรคไตวายเรื้อรังทำได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้น้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และน้ำตาลสะสมในเลือดน้อยกว่า 7% ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไต ทำให้การขับของเสียออกจากร่างกาย รักษาความสมดุลของเกลือและน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง โรคมีหลายประเภท ได้แก่ ไตวายฉับพลัน ไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดจากเบาหวาน ความดัน โรคไตอักเสบ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยครั้ง หรือเกิดจากการอุดตัน เช่น นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งมดลูกไปกดเบียดท่อไต เป็นต้น เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วการทำงานของไตจะเสื่อมจนเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องได้รับการฟอกเลือดล้างไต โดยระยะเริ่มต้นมักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน จะมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มีอาการระยะที่รุนแรง อาการที่พบได้บ่อยและเป็นสัญญาณแจ้งเตือน คือ ซีด เพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปัสสาวะสีหรือกลิ่นผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน ปวดศีรษะ ตรวจพบความดันโลหิตสูง ตัวบวม เท้าบวม ปวดหลัง และปวดบั้นเอว เมื่อเป็นมากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการของไตวายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

การตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจเลือดดูการทำงานของไตและตรวจปัสสาวะ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติเบาหวาน ความดัน ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง ภูมิคุ้มกันแพ้ภัยตัวเอง เช่น โรคลูปัส (SLE) โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่กินยาที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต เช่น กลุ่มยาแก้ปวด NSAIDs ยาสมุนไพร หรือรับยาบำบัดทางเคมีบำบัด


กำลังโหลดความคิดเห็น