อุบลราชธานี - มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีส่งนักวิจัยลงชุมชนค้นคว้าตามหาวัฒนธรรมที่เกือบจะสูญหายให้กลับมาเป็นทุนทางสังคม แล้วต่อยอดให้ชุมชนนำไปใช้ประกอบกิจการหารายได้
ที่ถนนคนเดินเลียบแม่น้ำมูล เทศบาลนครอุบลราชธานี สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสถาบันอุดมศึกษาอีก 11 สถาบันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดแสดงมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคอีสาน
โดยมีการออกร้านและจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมชุมชนในภาคอีสานของคนในพื้นที่ที่สูญหายไปให้กลับมา และนำไปสู่การใช้ประโยชน์โดยการสร้างผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม ผู้ประกอบการวัฒนธรรม เช่นเดียวกับการผลิตเครื่องดีดกระจับปี่ของเขมร ซึ่ง 2 สายที่ใช้ในวงมโหรีกันตรึม
นายชายชาญ กล้วยทอง นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องดนตรี กล่าวว่า กระจับปี่ของไทยจะมี 4 สาย แต่ของวงมโหรีกันตรึมจะมี 2 สาย ซึ่งการเล่นดนตรีกันตรึมมีคนสืบสานกันเยอะแล้ว แต่การสืบสานด้านการทำเครื่องดนตรียังมีน้อย เลยผันตัวมาเป็นช่างทำเครื่องดนตรี เพื่อให้สิ่งนี้ยังคงอยู่ได้ หลังจากกระจับปี่เคยหายไปจากการใช้ในวงดนตรีหลายสิบปี และเพิ่งกลับมาได้ไม่นาน เพราะกลุ่มเยาวชนบ้านดงมัน จ.สุรินทร์ ทำขึ้นใช้บรรเลงในวงมโหรี ปัจจุบันมียอดสั่งผลิตต่อเนื่อง
ด้าน รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการรื้อฟื้นวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นในทุกด้าน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีลงพื้นที่ไปอยู่ร่วมกับคนในชุมชน เพื่อค้นคว้าตามหาวัฒนธรรมที่เกือบจะสูญหายให้กลับมาเป็นทุนทางสังคม แล้วต่อยอดให้ชุมชนนำไปใช้ประกอบกิจการหารายได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เข้าไปสนับสนุนต่อยอดกับเมืองเขมราฐธานี
ต่อไปก็จะทำกับถนนเมืองเก่าที่เป็นถนนเลียบแม่น้ำมูลในปัจจุบันของเทศบาลนครอุบลราชธานี และที่อำเภอโขงเจียม เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมที่กำลังสูญหายกลายมาเป็นทุนทางสังคมใช้ในการประกอบอาชีพของคนในชุมชนต่อไป
สำหรับภาพรวมผลผลิตจากการจัดการทุนทางวัฒนธรรมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 สถาบัน มี 14 โครงการ ได้ก่อเกิดผลผลิต ประกอบด้วย ผู้ประกอบการวัฒนธรรม 30 กลุ่ม จำนวน 85 ราย ผู้ประกอบการวัฒนธรรมรายใหม่ที่เกิดจากการดำเนินโครงการนี้ จำนวน 40 ราย