xs
xsm
sm
md
lg

“มลาวประเทศ” คือประเทศใด! เหตุไฉนจึงมารวมอยู่ในประเทศไทยเป็น ๒๐ จังหวัด!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“มลาวประเทศ” หลายคนคงคิดว่าหมายถึงประเทศลาว แต่ในหนังสือ “ปกิณกคดีประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒” ในเรื่อง “มลาวประเทศ” ที่เขียนโดย สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์ นักอักษรศาสตร์ของกรมศิลปากร ได้ให้คำอธิบายว่า

มลาวประเทศ เป็นคำที่ใช้เรียกอาณาบริเวณหัวเมืองทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกกันอย่างสามัญว่า ลาว หรือ หัวเมืองลาว ดังจะเห็นได้เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดการปกครองส่วนภูมิภาคตามระบบเทศาภิบาล ได้ทรงแบ่งหัวเมืองลาวเป็นมณฑลลาวเฉียง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลพายัพ ประกอบด้วย เมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ เถิน

มณฑลลาวพรวน ภายหลังเปลี่ยนเป็น มณฑลอุดร ประกอบด้วย เมืองอุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร เลย หนองคาย
มณฑลาวกาว ภายหลังเปลี่ยนเป็น มณฑลอีสาน ประกอบด้วย เมืองอุบลราชธานี จำปาสัก ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์

มณฑลลาวกาว ภายหลังเปลี่ยนเป็น มณฑลนครราชสีมา ประกอบด้วย เมืองนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์
ส่วนที่มาของคำว่า ลาว นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงค้นคว้าหลักฐานพบเค้าเงื่อนใน

พงศาวดารโยนก ตอน พิงควงศ์ กล่าวว่า เมืองเชียงลาว ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชื่อเดิมของ เมืองเชียงแสน เป็นราชธานีของเจ้าแผ่นดินลาว ปกครองแผ่นดินล้านนา ๕๗ เมือง เรียกนามเจ้าแผ่นดินต้นราชวงศ์ว่า ปู่เจ้าลาวจก มีเชื้อสายปกครองสืบมาหลายพระองค์ ล้วนเรียกนามขึ้นต้นว่า ลาว ทั้งสิ้น

ส่วนคำว่า มลาวประเทศ อาจเป็นคำที่เรียกเพี้ยนไป ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๒-๓ มีข้อความจารึกว่า ...ทั้งมากาวลาว แลไทยเมืองใต้หล้า......

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายความหมายว่า สมัยนั้นมีเมืองหลายเมืองยอมมาขึ้นต่อกรุงสุโขทัย พิจารณาลักษณะถ้อยคำที่จารึกเห็นได้ว่า แยกคนที่กล่าวถึงเป็น ๒ จำพวก เอาชื่อคนต่างชาติต่างภาษาไว้ข้างต้น เพราะมีคำว่า แล แทรกแล้วจึงถึงชื่อไทยจำพวกอยู่ข้างท้าย ชื่อคนต่างภาษาต่างชาติคือ มา กาว ลาว จำพวกที่ว่า มา นั้นจะเป็นมลายู หรือตรงกับชาติใดในสมัยนี้อยู่ ที่เรียกว่า กาว ตรงกับที่เรียกว่า ลาวกาว ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คงหมายถึงชาวล้านช้างเฉพาะพวกข่า ไทยชาวอู อาจหมายถึง ชาวอยุธยา ไทยชาวของ อาจหมายถึงไทยที่อยู่ริมแม่น้ำของ ได้แก่ ไทยล้านช้าง อย่างไรก็ดี ไม่ว่าความหมายดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ แต่ก็เป็นไปได้ว่า คำเรียก ลาวประเทศ อาจเพี้ยนเป็น มลาวประเทศ ได้ดังนี้”

ใน นิทานโบราณคดี ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงชานุภาพเล่าไว้เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลอีสานเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ ทรงค้นพบถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ สำเนียงภาษา ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยเข้าใจกันต่อๆมานั้นไม่ถูกต้องว่า

“ฉันเดินบกไปจากนคราชสีมา ๕ วัน เข้าเขตมณฑลอุดรที่เมืองชนบท พอถึงเมืองชนบทก็เห็นชาวเมืองผิดกับชาวนครราชสีมา ทั้งเครื่องแต่งตัวและฟังสำเนียงภาษาไทยแปร่งไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคนกรุงเทพฯสำคัญกันมาแต่ก่อนว่าเป็นลาว แต่เดี๋ยวนี้รู้กันมากแล้วว่าเป็นไทยมิใช่ลาว...”

คำเรียกหัวเมืองทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่าลาว เป็นการเรียกตามประวัติความเป็นมา แต่ในภายหลัง เมื่อไทยมีอำนาจทางการเมืองเหนือดินแดนเหล่านั้นแล้ว คนพื้นเมืองจึงไม่พอใจที่ถูกหาว่าเป็นลาว คนทางเหนือจะเรียกตัวเองว่า คนเมือง ภาษาที่พูดเรียกว่า คำเมือง โดยความรู้สึกก็ไม่คิดว่าตนเองแตกต่างจากคนไทย ด้วยเหตุนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงเห็นสอดคล้องตามพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์จะปกครองบ้านเมืองต่างๆให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิใช่แยกกันเป็นอาณาจักรต่างๆแล้วขึ้นกับส่วนกลางเหมือนเป็นประเทศราช ดังนั้นจึงเปลี่ยนชื่อมณฑลที่มีคำว่าลาวทั้งหลายออก ตั้งใหม่ให้มีลักษณะเป็นไทยเหมือนกันหมด
นี่คือส่วนหนึ่งในความเป็นมาของประเทศไทยและคนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น